Custom Search

แนวคิดและทฤษฎี หลักการและเป้าหมายของการเสริมสร้งพลังอำนาจในการทำงาน

Posted on วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 by modal

การเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานของบุคลากรมีแนวคิดพื้นฐานจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลไกของการจูงใจด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และบุคคลรวมกันเป็นหมู่คณะเป็นองค์การ (Haksever. et. Al. 200:226) นอกจากนี้บุคคลยังมีความต้องการพัฒนาศักยภาพ ปัญญา ทักษะความสามารถในการทำงานทุกด้าน รวมถึงความสัมพันธ์ และต้องการตอบสนองในการสร้างสรรค์การทำงานที่เกิดประโยชน์ (Sergiovenni & Starratt. 1998: 5) ซึ่งเท่ากับว่าบุคคลต่างต้องการเป็นผู้มีพลังอำนาจในการทำงาน

แนวคิดของการเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงาน คือกระบวนการจัดกระทำหรือการให้การสนับสนุนในสิ่งที่เป็นปัจจัยเหตุ สภาวการณ์ วิธีการต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาเสริมสร้างพลังอำนาจที่มีในครูและบุคลากรให้เพิ่มมากขึ้น และนำพลังอำนาจดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานตามบทบาทภารหน้าที่ ซึ่งเหตุปัจจัย สภาวการณ์ และวิธีการที่ช่วยเสริมพลังอำนาจการทำงานของครูและบุคลากรมาจากหลักความเป็นประชาธิปไตย หลักการการประจายอำนาจ หลักความสามารถ หลักความเป็นผู้เชี่ยวชาญ และหลักการปฏิรูป (สมชาย บุญศิริเภสัช. 2545: 24)

ทฤษฎีที่สัมพันธ์กับการเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงาน
การเสริมสร้างพลังอำนาจเป็นกระบวนการของการปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยเหตุต่าง ๆ ที่บุคคลค้นพบ และพัฒนาพลังอำนาจที่จะใช้ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ เป็นประโยชน์ ต่อตนเอง และสังคม การเสริมสร้างพลังอำนาจ เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับความต้องการของมนุษย์ ความต้องการในการควบคุมตนเอง เป็นกระบวนการที่ต้องมีการตัดสินใจ กำหนดตนเอง และลงมือปฏิบัติของบุคลากรทุกคน ทุกฝ่าย (Gutierrez. Parsons & Cox. 1998: 6)

ทฤษฎีที่สัมพันธ์กับพลังอำนาจในการทำงานได้แก่
1. ความต้องการของมนุษย์ตามทฤษฎีของมาสโลว์ (Maslow’s hierarchy of needs) ที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลมีต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต ต้องการปัจจัยทางร่างกาย อาหาร ที่อยู่อาศัย ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน หน้าที่การงาน ต้องการความรักและการยอมรับจากผู้อื่น ต้องการฐานะทางสังคม และเกียรติศักดิ์ศรี ต้องการบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต (สุดา ทัพสุวรรณ. 2541: 32-33)

2. ทฤษฎีการควบคุมตนเอง (self - control theory) กล่าวถึงคุณลักษณะที่ปรากฏอันเนื่องมาจากพลังภายในที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ กำหนดการกระทำที่มีผลต่อการทำงาน และการใช้เหตุผลเพื่อปฏิบัติงาน การกระทำที่แสดงว่าบุคคลสามารถควบคุมตนเองได้ เช่น กำหนดวิถีชีวิตและพฤติกรรมของตนเอง ตัดสินใจกระทำการใด ๆ อย่างมีเหตุผล สามารถแสดงให้เห็นถึงความสามารถที่มีอยู่ในตัวเอง ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีความอดทนและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และวิกฤติต่าง ๆ (Kerr & Kramer.. 1996: 184) ความสามารถในการควบคุมตนเองจึงเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของการเสริมสร้างพลังอำนาจการทำงาน

3. กระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานของปราวัต (Prawat. 1991: 748-749) ได้แก่การให้อิสระในการควบคุมการทำงานของตนเอง มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น มีทางเลือกในการปฏิบัติงาน มีโอกาสแสดงความเชี่ยวชาญในการทำงาน มีการประเมินการทำงานของตนเอง และมีทรัพยากรสนับสนุน ในขณะที่ โกนส์และโคลเวอร์ (Goens & Clover. 1991: 234-235) มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่าควรเปิดโอกาสให้ครูมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ให้ครูมีโอกาสในการทำงานตามความรู้ ความสามารถและทักษะ การเสริมสร้างอำนาจด้วยการให้ความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการจะช่วยให้ทำงานได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และเหมาะสมในภาวการณ์นั้น ๆ ดังนั้นกระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจการทำงานต้องมีความสมบูรณ์และความพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ เพราะการดูแลการปฏิบัติงานของครุและบุคลากรไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา ครูและบุคลากรจึงควรแสดงความรับผิดชอบ พร้อมรับการตรวจสอบผลการตัดสินใจในการกระทำที่คิดว่าดีที่สุดตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากองค์การและสังคม (Sergiovanni & Starrett. . 1998:137)

4. กระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจในการทำงานของแคนโพล (Kanpol. 1999: 52) ประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้
4.1. การให้ครูมีอำนาจหน้าที่ มีอำนาจในการตัดสินใจ
4.2 การให้ครูมีอิสระ ควบคุมการทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญ
4.3 การให้ความรู้เกี่ยวกับเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น วัฒนธรรมเพื่อให้ครูปรับปรุงหลักสูตร การเรียนให้สอดคล้องกับผู้เรียน
4.4 การให้สิทธิ์ครูแสดงความคิดเห็นที่สะท้อนภาพจริงในการทำงาน
4.5 การให้ครูประเมินตนเอง

5. เคลคเคอร์ และโลดแมน (Klecker & Loadman. 1996:10) เสนอแนะให้ศึกษาพลังอำนาจในการทำงานของครูจากพฤติกรรมความสามารถดังต่อไปนี้
5.1ความสามารถในการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ครูใหม่เพื่อพัฒนาความรู้ทักษะ ความสามารถในการทำงาน
5.2 ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ ความมั่นคงในสถานภาพความเป็นมืออาชีพ
5.3 ความรู้ในวิชาชีพครู ทั้งความรู้และทักษะในเนื้อหาวิชาและการปฏิบัติ
5.4 ความสามารถในการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและงานในสถานศึกษา

กล่าวโดยสรุปปัจจัยพื้นฐานในการทำงานของครูในการเสริมสร้างพลังอำนาจการทำงานได้แก่
1. บุคลิกภาพของครูและบุคลากร เช่นความตระหนักในภาระหน้าที่ มีเป้าหมายในการทำงาน ความเคารพ เชื่อถือ ไว้วางใจในเพื่อร่วมงาน การบริหารจัดการตนเองและคุณธรรมในการทำงาน
2. บุคลากรมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
3. ผู้บริหารเข้าใจในบทบาทหน้าที่ มีภาวะผู้นำ สามารถสนับสนุนปัจจัยและประสาน การทำงานร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่าย
4. โครงสร้างการทำงานภายในองค์การมีความสัมพันธ์กัน มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
5. เครือข่าย ข้อมูลข่าวสาร ทรัพยากรการทำงาน

กระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจการทำงานได้แก่
6. การมีอิสระในการตัดสินใจ มีโอกาสแสดงความรู้ ทักษะ ความสามารถในการทำงาน
7. การมีส่วนร่วมในการต้ดสินใจและรับผิดชอบในการทำงาน
8. การแสดงภาวะผู้นำในการทำงาน
9. การเรียนรู้และพัฒนาความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญในนวัตกรรม เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการทำงาน
10. การตรวจสอบประเมินการทำงานด้วตนเองและพร้อมรับการตรวจสอบ

พลังอำนาจการทำงานที่มีผลต่อความคิด พฤติกรรมการทำงานของบุคลากรได้แก่
11. ทำให้มีผลการทำงานเป็นที่ยอมรับ
12. ทำให้บุคคลมีความเพียรในการทำงาน
13. บุคลากรมีความเชี่ยวชาญในการทำงาน

0 Responses to "แนวคิดและทฤษฎี หลักการและเป้าหมายของการเสริมสร้งพลังอำนาจในการทำงาน":

บทความที่ได้รับความนิยม