Custom Search

แรงกระตุ้นในการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

Posted on วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 by modal

การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ประกอบขึ้นจากแรงกระตุ้น 2 ด้าน คือ แรงกระตุ้นจากภายใน และแรงกระตุ้นจากภายนอก เราจะใช้แรงกระตุ้นทั้ง 2 ด้านอย่างไร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

แรงกระตุ้นภายใน internal inspiration

1. การตั้งเป้าหมายในการทำงานอย่างชัดเจน เพื่อกำหนดอนาคตและความก้าวหน้าในอาชีพการงาน
2. ความท้าทาย (challenge) เป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้จะกลายเป็นความท้าทายที่ทำให้เราก้าวไปจนประสบความสำเร็จ แต่ที่สำคัญเป้าหมายจะต้องไม่ไกลเกินตัว เพราะจะกลายเป็นความเพ้อฝันไม่มีวันจบสิ้น
3. ความมั่นใจ (confident) เราต้องมั่นใจในตัวเอง มั่นใจในความสามารถ ความพยายาม ความพากเพียรและความอดทน ซึ่งจะนำมาสู่ความสำเร็จได้
4. คำมั่นสัญญา (commitment) เราต้องมีคำมั่นสัญญากับตัวเราในการที่จะทำให้เป้าหมายที่วางเอาไว้ประสบความสำเร็จให้ได้ คำมั่นสัญญานี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เราสร้างวินัยในตัวเอง เพื่อความสำเร็จที่ตั้งเอาไว้

อาจจะสรุปได้ว่า เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางเป้าหมายในการทำงานให้ชัดเจน มิใช่การทำงานแบบวันต่อวัน เพื่อสร้างแรงจูงใจที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางเอาไว้

แรงกระตุ้นภายนอก external inspiration

1. สถานที่ทำงาน บรรยากาศ สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
2. เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ผู้บริหาร
3. กฎ กติกา ระเบียบ และการลงโทษ
4. การให้คำชมเชย หรือของรางวัลในความสำเร็จ
5. คำตำหนิ หรือการสอนสั่งต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เราประสบความสำเร็จ
6. สิทธิ ผลประโยชน์ รายได้ หรือสวัสดิการต่าง ๆ ที่พอเหมาะพอเพียง (การทำงานไม่จำเป็นที่เราต้องหวังผลตอบแทนจนเกินตัว)

แรงกระตุ้นจากภายนอกเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ให้เราพยายามมองให้มุมบวกให้มากที่สุด เพื่อที่จะทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข
เคยสังเกตตัวเราเองหรือคนอื่นหรือป่าวว่า เมื่อเราเริ่มเข้ามาทำงานใหม่ไม่ว่าจะเป็นห้างร้าน โรงงาน บริษัท หน่วยงาน หรือองค์กรทั้งภาครัฐ หรือเอกชนใหม่ ๆ ทุกคนจะมีไฟในการทำงานอยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อยากเรียนรู้ว่างานแต่ละงานนั้นเป็นอย่างไร อยากรู้จักกับคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานซึ่งทำให้เกิดไฟในการทำงานเป็นอย่างมาก

แต่เมื่อเราทำงานไปซักพัก ความกระตือรือร้นในการทำงานจะเริ่มลดลง เนื่องจากได้เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเองหมดแล้ว เช่น รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างไร เวลาไหนต้องทำงานอะไรบ้าง มีเพื่อน มีคนรัก มีสังคม มีกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น ทำงานหนัก หักโหม ล่วงเวลา โดนใช้งานในส่วนที่ไม่ใช้งานหลักของตนเอง ไม่มีความท้าทาย งานที่ทำแต่แบบเดิม ๆ งานที่ทำดูเหมือนไม่มีความก้าวหน้าในตำแหน่งงานที่ทำ เงินเดือนน้อย จะขึ้นก็ขึ้นน้อย เครื่องมืออุปกรณ์ไม่เพียงพอ ลูกน้อง ผู้ร่วมงาน เจ้านาย หัวหน้างาน มีปัญหา ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของตนเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความรู้สึกที่ดีต่องาน เริ่มลดลง จนคิดแต่ว่า ทำงานประจำให้เสร็จไปวัน ๆ หรือให้ผ่าน ๆ ไป ซึ่งความรู้สึกอย่างที่กล่าวมาแสดงว่าเริ่มหมดไฟในการทำงานแล้ว

หากต้องการสร้างให้เกิดไฟในการทำงาน ต้องเพิ่มเชื้อฟืนเข้าไปให้มากขึ้น นั่นหมายถึง หากตัวเองเริ่มหมดไฟ ต้องหางานอะไรใหม่ ๆ ทำ เพื่อให้เกิดความตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยการหาจุดบกพร่องของงานที่เราทำแต่ละจุด แล้วหาทางกำจัดและพัฒนาจุดบกพร่องเหล่านั้น ลดข้อผิดพลาด เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หาความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งเกิดจากการสร้างแรงจูงใจ

ซึ่งเชื่อได้ว่าหากคุณต้องการเพิ่มไฟในการทำงานให้กับตัวคุณ คุณต้องหาเชื้อไฟที่จะทำให้คุณต้องใช้ความคิด ต้องใช้การเรียนรู้ หรือหางานใหม่ ๆ ทำเพื่อสร้างให้คุณมีใจในการทำงานมากขึ้น และ สร้างสภาพแวดล้อมของคุณให้เหมาะสมกับการทำงาน ลดความขัดแย้ง และ สร้างให้ความคิดมุ่งอยู่กับการทำงาน จะทำให้ไฟที่คุณได้จุดขึ้นกับการทำงานใด ๆ นั้น สามารถอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือจนกว่าจะงานเสร็จสิ้นแล้ว ก็ต้องวกกลับไปหาเชื้อไฟใหม่ ๆ ซึ่งมันก็จะกลายเป็น วัฏจักรในการสร้างสรรค์งาน เมื่อทำอย่างนี้ ผลงานก็จะเกิดขึ้น มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานรวมไปถึงผลตอบแทนที่มากขึ้นตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ

0 Responses to "แรงกระตุ้นในการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน":

บทความที่ได้รับความนิยม