Custom Search

มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ (Economic Value Added)

Posted on วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554 by modal

ในช่วงที่ผ่านมาคำยอดฮิตติดหูทางด้านศาสตร์การบริหารและการเงินคงจะไม่มีคำใดมากเกินไปกว่า “การบริหารที่เน้นมูลค่า” (Value-Based-Management) หรือ VBM กับ “มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ” (Economic Value Added) อย่างไรก็ตาม มักเกิดความสับสนระหว่าง “การบริหารที่เน้นมูลค่า” (Value-Based-Management) หรือ VBM กับ “มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ” (Economic Value Added) หรือ EVA ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้สลับกันไปมา แต่โดยทั่วไปแล้ว VBM เป็นแนวคิดที่กว้างกว่าเมื่อเทียบกับ EVA

VBM เป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งเน้นความต้องการของตลาดซึ่งคิดค้นโดย Louis Kelso และ Mortimer Adler VBM เป็นวิธีการที่จะทำให้บุคลากรแต่ละคนในองค์กร

(1) มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ทั้งในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติงานและเจ้าขององค์กร
(2) ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมกับการทุ่มเทให้กับองค์กรทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติงานและเจ้าขององค์กร
(3) ร่วมกับบุคลากรอื่นในการแก้ไขปัญหาหรือข้อผิดพลาดในระบบที่มีผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมและตอบแทน ยิ่งบุคลากรมีความสนใจในสิ่งเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้ความพึงพอใจของทั้งลูกค้าและบุคลากรเพิ่มขึ้นซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุน การมีรายได้และผลกำไรเพิ่มขึ้น

ภายใต้แนวคิดของ VBM มูลค่าขององค์กรจะวัดจากกระแสเงินสดในอนาคตที่ปรับค่าของเงินตามระยะเวลาแล้ว มูลค่าขององค์กรดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อองค์กรได้ลงทุนในโครงการและได้รับผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนที่ลงไป VBM จะมุ่งความสนใจไปยังวิธีที่องค์กรจะนำมูลค่านี้มาใช้ในการสร้างกลยุทธ์รวมและการตัดสินใจในการดำเนินงานทั่วไป วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการบริหารที่นำการกำหนดเป้าหมายและการจัดการเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของฝ่ายบริหารมาใช้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับองค์กร

ระบบ VBM จึงมีความคล้ายคลึงกับระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจอื่น แต่ก็มีจุดแตกต่างไปจากระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจอื่นตรงที่ว่า VBM จะรวมการสื่อสารเป้าหมายกลยุทธ์จากผู้บริหารไปยังพนักงานระดับปฏิบัติการและการส่งรายงานผลการปฏิบัติงานจากผู้ปฏิบัติงานมายังผู้บังคับบัญชา โดยอาศัยทั้งข้อมูลในอดีตและข้อมูลที่เกิดจากการพยากรณ์เพื่อสนับสนุนวงจรการจัดการหรือบริหารมูลค่าทั้งหมด

ระบบดังกล่าวทำให้สามารถรวบรวมและเปรียบเทียบข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรกับเป้าหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวัดผลการปฏิบัติงานและสามารถนำมาสร้างสารสนเทศเพื่อการจัดการ สารสนเทศเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผลด้วยการสร้างแบบจำลองและสถานการณ์ที่ทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการวางแผนกลยุทธ์ แผนเหล่านี้จะถูกนำไปแปลงเป็นเป้าหมาย ซึ่งจะผลักดันการจัดการผลการปฏิบัติงานเพื่อให้ครบวงจร

VBM จึงเป็นแนวคิดของการจัดการที่พยายามปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดของบุคลากรทุกคนในองค์กรในอันที่จะต้องเรียนรู้ที่จะจัดลำดับความสำคัญการตัดสินใจก่อนหลังโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจที่ว่าการตัดสินใจนั้นก่อให้เกิดมูลค่าแก่องค์กรอย่างไร ซึ่งหมายถึงว่ากระบวนการและระบบหลัก ๆ ทั้งหมดในองค์กรจะมุ่งเข้าสู่การสร้างมูลค่า (Creation of Value) และสร้างความมั่งคั่งจากการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความมั่งคั่งและผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น

ตัวอย่างเช่น การสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นถือเป็นเป้าหมายหลักในการจัดการ Supply Chain ของกิจการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ แนวคิด VBM จะช่วยองค์กรในการวัดผลจากการจัดการ VBM จึงเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ การประเมินผลปฏิบัติงาน และกระบวนการในการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น

VBM ทำให้คุณภาพ การศึกษาและการมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้เกิดการจัดการคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management) Open Book Management และแนวคิดการเป็นเจ้าขององค์กร โดยการสร้างระบบที่มีโครงสร้างเพื่อกระจายอำนาจไปสู่พนักงานระดับล่าง ทั้งนี้รวมถึงการสร้างโอกาสให้กับพนักงานในการมีส่วนร่วมในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการเจริญเติบโตขององค์กรและรายได้ในแต่ละช่วงเวลาซึ่งคำนวณจากเกณฑ์ศูนย์กำไร (Profit center basis) โปรแกรม VBM แบบเบ็ดเสร็จรวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

• การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Planning)
• การจัดสรรทุน (Capital Allocation)
• งบประมาณดำเนินงาน (Operating Budgets)
• การวัดผลปฏิบัติงาน (Performance Measurement)
• ผลตอบแทนไปสู่ฝ่ายบริหาร (Management Compensation)
• การสื่อสารภายใน (Internal Communication)
• การสื่อสารภายนอก (External Communication) (กับตลาดทุน)

0 Responses to "มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ (Economic Value Added)":

บทความที่ได้รับความนิยม