Custom Search

EVA กับกลุ่มพัฒนาคุณภาพงาน

Posted on วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554 by modal

EVA ชื่อย่อของ Economic Value Added เรียกเป็นไทยว่ามูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์นำมาตร EVA มาเป็นเครื่องมือวัดผลงานนานกว่า 20 ปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม EVA เริ่มมีความโด่งดังหลังการปฏิวัติแนวทางเศรษฐศาสตร์การเงิน เมื่อประมาณ 25 ปีมานี้จากการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ผู้มี ชื่อเสียงสองท่านคือ Joel M.Stern และ Bennett Stewart III

นักเศรษฐศาสตร์มีแนวความคิด ในการสร้างมูลค่าเพิ่มนั้นองค์กรจะต้องสร้างกำไรให้ได้มากกว่าแค่ การชำระต้นทุนการดำเนินงานแต่ต้องเพียงพอที่จะชำระต้นทุนเงินของผู้ถือหุ้นในองค์กรอีกด้วย

Warren Buffett กล่าวไว้ว่า

“We feel noble intention should be checked periodically against results.

We test the wisdom of retaining earnings by assessing whether retention, over time, deliver shareholders at least $1 of market value for each $1 retained”

“สิ่งที่เรารู้สึกได้ถึงการได้รับความสนใจอันทรงเกียรติ และมีค่านี้ควรอย่างยิ่งที่ต้องมีการสำรวจตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้อย่างสม่ำเสมอ พวกเราทดสอบปัญญาในการเก็บครองรักษารายได้ด้วยการประเมินว่าเราจะต้องแสวงหารายได้คืนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งเหรียญ (ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) ของมูลค่าตลาด สำหรับทุก ๆ หนึ่งเหรียญที่เราถือครอง”

EVA คำนวณ โดยใช้กำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษี ลบด้วยต้นทุนเงินทุน ที่ใช้ไปเพื่อสร้างกำไรนั้น ๆ

“ มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐศาสตร์ = กำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษี – ต้นทุนเชิงทุน ”

ค่า EVA ที่เป็นบวกชี้ให้เห็นว่าองค์กรกำลังสร้างมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ค่า EVA ที่เป็นลบเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนภัยซึ่งองค์กรควรตรวจสอบว่าค่า EVA ในอนาคตจะยังเป็นลบหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว หมายความว่าองค์กรกำลังลดมูลค่าของตัวเองลง หากเหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินการต่อไป (ค่า EVA ติดลบมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง) ในที่สุดองค์กรจะหมดความหมายและสาบสูญจากสังคมไปนอกจากนั้น การคำนวณ EVA ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของการใช้เงินทุนในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนและช่วยให้องค์กรตัดสินใจใช้เงินทุนได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นในแนวความคิดของ EVA จึงเป็นแนวความคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร

EVA ให้ความสำคัญสูงสุดกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม

การสร้างมูลค่าเพิ่ม หมายถึง การนำทรัพยากรไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าได้สูงสุด หากไม่มุ่งมั่นกับการสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว การใช้ทรัพยากรขององค์กรจะเป็นไปอย่างสิ้นเปลือง และสังคมโดยรวมสูญเสียมูลค่าทางโอกาสในการสร้างคุณค่าจากการใช้ทรัพยากรเหล่านั้น

ต้นทุนเงินทุน

ประสิทธิภาพตามแนวคิด EVA เกิดขึ้นจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จะทราบได้ว่าองค์กรกำลังสร้างมูลค่าอยู่หรือไม่ก็ต่อเมื่อได้คำนวณต้นทุนที่แท้จริงของเงินทุนที่ใช้ไป โดยต้นทุนเงินทุนขององค์กรสามารถแสดงในรูปคณิตศาสตร์ได้ดังนี้

ต้นทุนเงินทุน = อัตราต้นเงินทุน (ค่าเสียโอกาสของผู้ถือหุ้น) X เงินทุน

ต้นทุนเงินทุนคือ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของ EVA ในแนวทางการบันทึกบัญชีโดยทั่วไปองค์กรส่วนใหญ่ผลประกอบการที่ดูเหมือนมีกำไรทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะกำไรทางบัญชีทั่วไปจะหักเพียงค่าใช้จ่ายในการกำเนินงานโดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนเงินทุนจากส่วนผู้ถือหุ้น เราอาจคิดว่าเงินทุนจากส่วนผู้ถือหุ้นไม่มีต้นทุนเพราะเราไม่จำเป็นต้องจ่าย แต่แท้จริงแล้วเงินทุนจากส่วนของผู้ถือหุ้นมีต้นทุนอยู่ด้วย และเป็นต้นทุนที่สูงมากจนอาจคาดไม่ถึง

ต้นทุนเงินทุน คือ มูลค่าที่ผู้ถือหุ้นอาจได้รับจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลหากนำเงินไปลงทุนในองค์กรที่มีความเสี่ยงเทียบเท่ากับองค์กรของเรา นี่คือมูลค่าที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost)

หากองค์กรบริหารจัดการเงินทุนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงการให้ผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าทรัพยากรที่ตนใช้ไป ซึ่งเป็นการทำลายความมั่งคั่งของสังคมโดยรวม (สังคมในภาพรวมได้รับความเสียหาย)

EVA แก้ไขข้อผิดพลาดนี้ด้วยการยอมรับว่า เมื่อใช้เงินทุนองค์กรจะต้องจ่ายต้นทุนของเงินทุนเช่นเดียวกับ ที่จ่ายต้นทุนให้กับแรงงาน (ของบุคลากร เช่น คนงาน ลูกจ้าง พนักงาน ผู้บริหารเป็นต้น) การที่ EVA คิดต้นทุน เงินทุนทั้งหมด ทำให้สามารถแสดงมูลค่าที่องค์กรได้เสริมสร้าง หรือล้างผลาญเป็นจำนวนเงินอย่างชัดเจนในแต่ละช่วงระยะเวลาของการรายงานผลประกอบการ

0 Responses to "EVA กับกลุ่มพัฒนาคุณภาพงาน":

บทความที่ได้รับความนิยม