Custom Search

การจัดประเภททรัพยากร

Posted on วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555 by modal

 มีแนวคิดการจัดประเภททรัพยากรเป็นทรัพยากรที่มีตัวตน และทรัพยากรที่ไม่มีตัวตน หรือจัดประเภทตามลักษณะรายละเอียดของทรัพยากร เช่นทรัพยากรมนุษย์ทรัพยากรทางกายภาพ
             ทรัพยากรที่มีตัวตน ได้แก่ โรงงาน เครื่องจักร ที่ดิน สินค้าคงคลัง ลูกหนี้ เงินฝากธนาคาร (Fahy & Smithee, 1999, p. 7) เงินทุน บุคลากร (Grant, 1991, p. 119)           
             ทรัพยากรที่ไม่มีตัวตน ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรเครื่องหมายการค้า (Hall, 1992, p. 136) วัฒนธรรมองค์กร (Barney, 1986a, p. 656) ความน่าเชื่อถือขององค์กร (Fahy & Smithee, 1999, p. 7; Roberts & Dowling, 2002, p. 1142)           
             นอกจากการจัดประเภททรัพยากรเป็นทรัพยากรที่มีตัวตน และทรัพยากรที่ไม่มีตัวตน ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการจัดประเภททรัพยากรตามลักษณะรายละเอียดของทรัพยากร เช่น Grant (1991, p. 119) จัดทรัพยากรเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์ทรัพยากรทางกายภาพ ทรัพยากรด้านการเงิน ทรัพยากรด้านเทคโนโลยี ชื่อเสียงขององค์กร และทรัพยากรองค์กร ส่วน Barney จัดประเภททรัพยากรเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรทางกายภาพ และทรัพยากรองค์กร โดยรวมทรัพยากรด้านเทคโนโลยีไว้ในทรัพยากรทางกายภาพ (Barney, 1991, p. 101; 2002, p. 156)              
             Alvarez and Busenitz (2001, p. 756) ได้แนะนำให้เพิ่มทรัพยากรด้านความสามารถในการประกอบการ (entrepreneurial resources) ส่วน Shapiro (1999, p. 296 )ได้เพิ่มทรัพยากรด้านการตลาด (marketing resources) และด้านกฎหมาย (legal resources) ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้มาก่อน (Won, 2004, p. 8) ทรัพยากรด้านกฎหมายนั้น ได้มุ่งเน้นทรัพยากรที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร (Galbreath, 2005, p. 983; Shapiro, 1999, p. 296; Won, 2004, p. 83) นอกจากนั้นทรัพย์สินทางปัญญายังรวมถึงสูตร หรือเทคนิคการผลิตเฉพาะขององค์กร (QuickMBA, 2005; Schroeder, Bates, & Junttila, 2002, p. 105) ส่วนทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยนั้น ได้กำหนดไว้ 7 ประเภท คือ สิทธิบัตร ความลับทางการค้า เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ แบบผังภูมิของวงจรรวม สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย (กรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2548)
             การจัดประเภทของทรัพยากรดังที่กล่าวมานี้ มีความชัดเจนมากกว่าการแบ่งเป็นทรัพยากรที่มีตัวตน และไม่มีตัวตน จึงมีนักวิชาการอีกหลายท่านนำมาใช้ และอ้างอิงเช่น Kaleka (2002) ได้ใช้ทรัพยากรทางกายภาพ และทรัพยากรด้านการเงิน เป็นส่วนหนึ่งของประเภททรัพยากร
             ทรัพยากรมนุษย์ หมายถึง ความรู้ ประสบการณ์ของบุคลากรในองค์กรทั้งระดับผู้บริหาร (Alvarez & Busenitz, 2001, pp. 756, 761; Barney, 1991, p. 101; Fahy, 2000, p. 96; Hall, 1992, p. 139; Mosakowski, 1998b, p. 1169) และระดับปฏิบัติการ (Barney, 1991, p. 101)
             ทรัพยากรทางกายภาพ หมายถึง ทำเลที่ตั้ง เทคโนโลยี (Barney, 1991, p. 101) โรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต (Barney, 1991, p. 101; Hofer & Schendel, 1978, p. 145)           
             ทรัพยากรด้านการเงิน หมายถึง เงินทุน (Forsman, 2004, p. 29) และการมีสภาพคล่อง (Hofer & Schendel, 1978, p. 145)
             ทรัพยากรด้านการตลาด หมายถึง สินทรัพย์ที่อำนวยประโยชน์ทางการตลาดให้แก่องค์กร ได้แก่ ตราสินค้า (Forsman, 2004, p. 31; QuickMBA, 2005) เครื่องหมายรับรองคุณภาพ (Aaker, 1989, pp. 95-96) เช่น Thailand’s Brand เอกสารรับรองมาตรฐานคุณภาพสินค้า เช่น ใบรับรองมาตรฐาน GMP, HACCP สัมพันธภาพกับลูกค้า (Kaleka, 2002, p. 273) ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือขององค์กร (Fahy, 2000, p. 95; Forman, 2004, p. 117; Galbreath, 2005, p. 983; Grant, 1991, p. 119) ทรัพยากรด้านทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับ สูตร ส่วนผสม เทคนิควิธีการผลิต หรือการควบคุมคุณภาพที่องค์กรใช้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ (กรมทรัพย์สินทางปัญญา, 2548; Fahy, 2000, p. 95; Galbreath, 2005, p. 983; QuickMBA, 2005; Shapiro, 1999, p. 296) ประเภทของทรัพยากรที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรม แต่ไม่ปรากฏในการจัดประเภทข้างต้นนั้น ไม่ได้ถูกละเลยในการศึกษาครั้งนี้ แต่เนื่องจากมีความใกล้เคียงกัน
             จึงได้นำประเด็นที่สำคัญมารวมไว้ในทรัพยากรประเภทใดประเภทหนึ่งใน 5 ประเภทข้างต้น เช่น ทรัพยากรด้านความสามารถในการประกอบการ อันหมายถึง ความรู้ความสามารถของตัวผู้ประกอบการ ซึ่งได้รวมศึกษาในทรัพยากรมนุษย์ ส่วนทรัพยากรด้านกฎหมาย ได้รวมศึกษาในทรัพยากรด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสอดคล้องกับบริบทในประเทศไทย และทรัพยากรองค์กรได้รวมศึกษาในเรื่องความสามารถขององค์กร

0 Responses to "การจัดประเภททรัพยากร":

บทความที่ได้รับความนิยม