Custom Search

แนวคิดด้านความต้องการของสาธารณะ

Posted on วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555 by modal

ในขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์กำลังกระทบต่อเมืองนั้น การเปลี่ยนแปลงในด้านสังคม การเมือง และสภาพพื้นที่ของเมืองก็กำลังเกิดขึ้นเช่นกัน และส่งผลกระทบต่อบทบาทและภารกิจของหน่วยงานบริหารเมือง ซึ่งทำให้การให้บริการสาธารณะของเมืองเริ่มมีความหลากหลาย โดยที่ความเป็นกฎเกณฑ์และความเป็นมาตรฐานที่แน่นอนตายตัวของงานการให้บริการแต่ละด้านน้อยลงไปทุกทีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรม กระแสโลกาภิวัตน์นำมาซึ่งแนวคิดของสังคมที่เปิดเผย มีหลายฝ่าย (multipolar city) และเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายโดยที่การอพยพและวัฒนธรรมของเชื้อชาติต่าง ๆ มีการดำรงอยู่ในด้านภาษา นิสัย และขนบธรรมเนียมโดยไม่คำนึงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ (Savitch, 2003, pp. 22-29) ในมุมมองของการมองโลกแบบ Postmodern สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ก็คือ โลกของเราโดยรวม กำลังมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความเป็นส่วน (segmented) และความแตกต่าง (differentiated) กันมากขึ้นทุกทีด้วย สิ่งนี้ คือ ความขัดแย้งกันของโลกเราในปัจจุบัน ซึ่งขณะที่มีวิถีชีวิตแบบเดียวกันทั่วโลก มีวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมตะวันตก และไม่ใช่วัฒนธรรมตะวันออก พร้อมทั้งตระหนักในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหานิเวศวิทยา แต่เรากลับเผชิญกับความแตกแยก ความหลากหลาย และความไม่แน่นอน คาดหมายไม่ได้ของสังคมขนาดใหญ่ที่จะมีกลุ่มเล็ก ๆ แตกต่างกันมากมายเกิดขึ้นที่สมาชิกจะมาจากที่ต่าง ๆ กันแล้วมารวมกันในโอกาสต่าง ๆ เช่น กลุ่มทางศาสนา กลุ่มกีฬา หรือกลุ่มสโมสรแฟชั่นอื่น ๆ มากมาย การที่โลกในยุค Postmodern มีความไม่สอดคล้องกัน (inconsistency) และแตกแยกเป็นส่วน ๆ ต่างกัน (fragmentation) ทำให้มีความยากลำบากในการที่จะกำหนดทฤษฎีหรือยุทธศาสตร์ หรือหนทางที่แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อตอบสนองต่อสภาพเงื่อนไขทางสังคมดังกล่าวได้ และโลกในยุค Postmodern จะเห็นถึงความหลากหลายเป็นส่วน ๆ ทั้งในเรื่องของศิลปะ การเมืองและศาสตร์ต่าง ๆ (Bergquist, 1993, pp. 477-480) สิ่งที่เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วทั้งโลก ก็คือ ท้องถิ่นกำลังเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ (globalization of the local) ว่า กระแสโลกาภิวัตน์ ไม่ได้หมายถึง เพียงการแพร่ขยายตัวของลัทธิทุนนิยมหรือตลาด หรือด้านธุรกิจการค้าแต่เพียงอย่างเดียว กล่าวคือ มันไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น และผลกระทบของกระแสโลกาภิวัตน์ก็ไม่ได้เกิดผลแต่เฉพาะด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวเช่นกัน ซึ่งกระแสโลกาภิวัตน์เป็นปรากฏการณ์ที่กว้างขวางดิ่งลึก และซับซ้อนยิ่งกว่านั้น และเกี่ยวข้องกับรูปแบบใหม่ ๆ ของการติดต่อสื่อสารและการสร้างนวัตกรรม ขณะเดียวกันยังเกิดกระแสโลกาภิวัตน์ 2 กระแสที่ต่อสู้และขัดแย้งกัน คือ ระหว่างการทำให้เกิดเป็นชนิดหรือแบบเดียวกัน (homogenization) ไปทั่วโลก กับการแสดงความแตกต่างหรือการมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว (particularization) ซึ่งรวมถึงการนำท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะตัวของพื้นที่เข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ด้วยสื่อทางระบบ Internet ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถทำการบรรจุหรือใส่ (uploading) เนื้อหาต่าง ๆ (content) ของท้องถิ่นไว้ในระบบ เพื่อบุคคลอื่นทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้เช่นกัน (Friedman, 2006, pp. 506-510) เมื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นภายในเมืองที่ แม้ว่าความหลากหลายของเมืองในการให้บริการสาธารณะและการเสนอสิ่งอำนวยความสะดวก (amenities) แก่ประชาชนจะถูกมองว่ามีความเป็นธรรมและความเสมอภาคลดน้อยลง แต่ตราบเท่าที่เมืองยังคงรักษามาตรฐานขั้นต่ำ (minimum standards) ของการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ ไว้ได้ ความหลากหลายและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เมืองนำเสนอก็ควรได้รับการสนับสนุน การกระจายอำนาจทางการบริหาร (political decentralization) เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการมากที่สุด เนื่องจากความจำเป็นในการตอบสนองต่อความต้องการต่าง ๆ ของท้องถิ่น และต่อความแตกต่างของความต้องการในท้องถิ่นย่อย ๆ ลงไปที่มีอีกเป็นจำนวนมากด้วย นอกจากนี้ การจัดการเมืองในปัจจุบัน ยังประสบความยากลำบากขึ้นอีก เนื่องจากสังคม มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น (complexity of social life) ซึ่งความผูกพันและการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับสถานที่ต่าง ๆ จะมีการกระจัดกระจายมากกว่าในอดีต กล่าวคือ ได้มีความแตกต่างทางด้านสังคมภายในเขตเมือง มีวิถีชีวิตใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น มีการเดินทางและการท่องเที่ยวไปในทุกทิศทุกทางหรือประชาชนออกจับจ่ายใช้สอยในเวลาที่ต่างกัน แตกต่างจาก ในอดีตที่วิถีชีวิตของผู้คนในเมืองที่มักจะมีความเหมือนและความสอดคล้องกันมากกว่า ดังนั้น จึงเป็นสิ่งท้าทายต่อการบริหารจัดการเมืองที่จะต้องมีการผสมผสานระหว่างการจัดการที่มีแนวคิดในการมุ่งต่อกลุ่มประชากร (people-based) และแนวคิดการจัดการที่มุ่งต่อพื้นที่ (place-based) (Kearns & Paddison, 2002)

0 Responses to "แนวคิดด้านความต้องการของสาธารณะ":

บทความที่ได้รับความนิยม