Custom Search

แนวคิดต่อบทบาทของผู้บริหารเมืองในกระแสการเปลี่ยนแปลง

Posted on วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555 by modal

บทบาทในฐานะผู้บริหารองค์การ Mintzberg (1991, pp. 26-31) พบว่า งานของผู้บริหาร (managerial work) ซึ่งได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อยู่เหนือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จะก่อให้เกิดสถานะ (status) บางอย่างที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่หลากหลาย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจหรือวางยุทธศาสตร์ของหน่วยงานหรือองค์การของตน สำหรับ “บทบาท” หรือ ชุดของพฤติกรรมที่เป็นผลจากตำแหน่งหน้าที่ของผู้บริหาร Mintzberg นำเสนอไว้ 10 บทบาทของผู้บริหาร ดังนี้ บทบาทที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal roles) 1. บทบาทการเป็นหัวหน้าองค์การ (figurehead role) ซึ่งเป็นผลมาจากการเป็นประมุขของหน่วยงาน ผู้บริหารจึงต้องทำหน้าที่ในงานที่มีลักษณะของการเป็นแบบแผนพิธีการต่าง ๆ (ceremonial nature) ซึ่งบางครั้งอาจมีลักษณะเป็นงานประจำ และไม่มีความสำคัญในแง่การตัดสินใจ แต่มีความสำคัญต่อความราบรื่นในการดำเนินงานภายในของหน่วยงาน และไม่อาจจะละเลยหน้าที่นี้ได้ 2. บทบาทของผู้นำ (leader role) ซึ่งเป็นเรื่องของภาวะผู้นำโดยตรง เนื่องจากผู้บริหารเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลงานของหน่วยงาน ผู้บริหารจึงมีบทบาทในการกระตุ้นและจูงใจให้พนักงานทำงาน และต้องประสานผลประโยชน์ของส่วนบุคคลให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหน่วยงาน ในขณะที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะแสวงหาการยอมรับจาก ผู้บริหาร ในการดำเนินการต่าง ๆ ทำให้เห็นว่าผู้บริหารมีอำนาจอย่างมากจากตำแหน่งหน้าที่ที่เป็นอยู่ 3. บทบาทของผู้ประสานงาน (liaison role) เป็นบทบาทที่ผู้บริหารทำการติดต่อประสานงานกับบุคคลภายนอกสายการบังคับบัญชาของตน โดย Mintzberg พบว่า เวลาที่ผู้บริหารใช้ติดต่อกับคนรู้จักหรือคนอื่น ๆ ภายนอกองค์การเป็นจำนวนเวลามากเท่ากับที่ผู้บริหารใช้เวลากับผู้ใต้บังคับบัญชา ทั้งนี้การติดต่อกับบุคคลภายนอกก็เพื่อแสวงหาข้อมูลข่าวสารเพื่อการตัดสินใจ บทบาทด้านข้อมูลข่าวสาร (information roles) 1. บทบาทของการติดตามตรวจสอบ (monitor role) บทบาทนี้ผู้บริหารจะตรวจสอบที่สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ องค์การหรือหน่วยงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลอยู่เสมอ รวมทั้งจากการติดต่อพบปะกับบุคคลภายนอกและพนักงานระดับล่าง ซึ่งส่วนใหญ่ข่าวสาร ที่ได้รับจากเครือข่ายของผู้บริหารจะเป็นทางวาจา เช่น การบอกเล่า เรื่องซุบซิบ และการคาดคะเนต่าง ๆ 2. บทบาทของผู้กระจายข่าว (disseminator role) ผู้บริหารเมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารมาแล้ว ก็จะทำหน้าที่ในการกระจายข่าวสารข้อมูลหรือให้มีการนำข้อมูลข่าวสารนั้นไปใช้ประโยชน์ร่วมกันในหน่วยงานหรือองค์การ โดยมอบต่อไปยังพนักงานระดับล่าง ซึ่งไม่ได้โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้นในตอนแรก และทำให้แน่ใจว่ามีการส่งข้อมูลข่าวสารนั้นอย่างทั่วถึงตามต้องการด้วย 3. บทบาทการเป็นโฆษกขององค์การ (spokesperson role) หน้าที่หนึ่งของผู้บริหาร คือ การพยายามส่งข้อมูลข่าวสารขององค์การหรือหน่วยงานไปยังบุคคลอื่น ๆ ที่อยู่ภายนอก ทำให้ผู้บริหารต้องทำหน้าที่ในการพูดคุย กล่าวสุนทรพจน์ หรือแนะนำผู้รับฟัง เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่หน่วยงานตน ไม่ว่าบุคคลอื่นดังกล่าวจะเป็นผู้ที่มีอิทธิพลในเชิงควบคุมหน่วยงานของตนด้วยหรือไม่ก็ตาม เช่น ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทนั้นบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ (decisional roles) 4. บทบาทของการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneur role) ผู้บริหารต้องมุ่งจะปรับปรุงหน่วยงานของตน และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่รอบข้าง ในบทบาทของผู้ติดตามและควบคุม ผู้บริหารมุ่งแสวงหาแนวคิดใหม่ ๆ และเมื่อปรากฏแนวคิดดังกล่าว ผู้บริหารจะรีบริเริ่มโครงการนั้นโดยควบคุมดูแลเอง หรือมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบ 5. บทบาทของผู้คลี่คลายปัญหา (disturbance handler role) ผู้บริหารจะทำหน้าที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตอบสนองต่อภาวะกดดันต่าง ๆ ที่เข้ามา เพราะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของผู้บริหาร ดังนั้นการดำเนินงานของหน่วยงานอาจจะเลวร้าย เนื่องจากผู้บริหารที่ละเลยต่อสถานการณ์ที่เริ่มเกิดปัญหาอุปสรรคจนกระทั่งกลายเป็นวิกฤติ และผู้บริหารแม้ว่าจะเป็นผู้มีความสามารถ แต่ไม่ได้คาดการณ์ต่อผลที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต 6. บทบาทการเป็นผู้จัดสรรทรัพยากร (resource allocator role) บทบาทนี้ผู้บริหารจะทำหน้าที่ในการตัดสินใจว่า หน่วยงานของใครจะได้รับทรัพยากรอะไรบ้าง รวมถึงการทำหน้าที่ในการออกแบบโครงสร้างขององค์การ ซึ่งจะเป็นแบบแผนของความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการที่จะเป็นตัวกำหนดเนื้องานที่มีการแบ่งหน้าที่ และการประสานงานกัน 7. บทบาทของนักเจรจาต่อรอง (negotiator role) ผู้บริหารมักจะใช้เวลาเป็นอันมากในการเจรจาต่อรองต่าง ๆ กล่าวได้ว่า การเจรจาต่อรองเป็น “วิถีชีวิต” ของผู้บริหาร และเป็นส่วนหนึ่งของงานประจำของผู้บริหาร

0 Responses to "แนวคิดต่อบทบาทของผู้บริหารเมืองในกระแสการเปลี่ยนแปลง":

บทความที่ได้รับความนิยม