นิคมอุตสาหกรรม เป็นเขตที่รัฐบาลหรือภาคเอกชนจัดไว้ให้กลุ่มนักลงทุน (investor) ทางอุตสาหกรรมเข้ามาดำเนินกิจการอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยจัดสรรที่ดินสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไว้บริการอย่างพร้อมเพรียง กิจกรรมนิคมอุตสาหกรรมได้เริ่มขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2439 ในประเทศอังกฤษ และในประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาเคียงกัน (ฉลวย ธีระเผ่าพงษ์, และอุทัยวรรณ สุวคันธกุล, 2536 หน้า 36) เหตุผลเริ่มแรกที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้น เพราะต้องการแก้ไขปัญหาการว่างงาน และปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรมให้กลายเป็นบริเวณที่เกิดประโยชน์ ต่อมาเมื่อกิจการนี้มีประโยชน์แก่การผลิตทางอุตสาหกรรม จึงได้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในประเทศไทยรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดการส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลุงทน (BOT--Board of Investment) ขึ้นในปี พ.ศ. 2504 คณะกรรมการนี้นอกจากทำหน้าที่ด้านส่งเสริมการลงทุน (investment promotion) แล้วยังมีหน้าที่พิจารณาคำขออนุญาตของผู้ประสงค์จะตั้งโรงงานในเขตที่กำหนดไว้ด้วย ในสมัยนั้นได้กำหนดพื้นที่ชานพระนครเป็นย่านอุตสาหกรรม (พอพันธ์ วิชจิตพันธ์, 2521 หน้า 102) เช่น จังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุทธยา เป็นต้น กิจการอุตสาหกรรมของโรงงานต่าง ๆ ได้ก้าวหน้า และมีการขยายโรงงานอุตสาหกรรมไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ราคาที่ดินสูง ประชากรในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรมีการย้ายถิ่นมากขึ้น ทำให้เกิดสภาพความเป็นอยู่แออัด สภาพแวดล้อมเป็นพิษ
จากสภาพปัญหาและความไม่เหมาะสมหลายประการ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีนโยบายปรับปรุงพื้นที่บริเวณอื่นให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมปี พ.ศ. 2511 รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อดำเนินงานปรับปรุงที่ดินย่านตำบลบางชัน เขตมีนบุรี ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2515 รัฐบาลได้ตั้งองค์การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Industrial Estate Authority of Thailand) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดำเนินการและสำรวจลู่ทาง เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั้งในส่วนภูมิภาค และส่วนกลาง จัดเป็นนิคมอุตสาหกรรมมาเขต 1 เขต 2 และนิคมอุตสาหกรรมเขต 3 นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจเอกชนให้เข้ามามีบทบาทในด้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นด้วย
วัตถุประสงค์โดยทั่วไปของการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม (พอพันธ์ วัชรจิตพันธ์, 2521 หน้า 102 – 103) ได้สรุปเอาไว้ 5 ประการ ดังนี้
1. อำนวยความสะดวกให้ในด้านที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่เหมาะแก่ผู้ลงทุนอย่างพร้อมเพรียงได้แก่ การจัดบริการสาธารณูปโภค เช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้า การกำจัดของเสีย การติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง ตัวอาคาร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายต่ำซึ่งสามารถจัดทำได้
2. ส่งเสริมให้อุตสาหกรรม สามารถพึ่งพาและสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ เช่น ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าจากโรงงานหนึ่งอาจใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานหนึ่งลักษณะ เช่นนี้ย่อมสะดวกและประหยัด เพราะสามารถติดต่อกันโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และช่วยลดค่าขนส่งได้อีกด้วย ฉะนั้นผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ และสามารถดำเนินงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น
3. การย้ายโรงงานอุตสาหกรรมจากแหล่งชุมชน เพื่อแก้ไขความแออัดในตัวเมือง และสภาพเสื่อมโทรม ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ นอกจากนี้ยังช่วยลดจำนวนการอพยพของชาวชนบทที่จะเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ
4. การกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาค เพราะอุตสาหกรรมย่อมเป็นตัวนำซึ่งความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น และเป็นการเพิ่มอาชีพ ตลอดจนรายได้ของประชาชนในท้องถิ่น
5. จัดวางผังเมือง แยกเขตที่อยู่อาศัย ย่านการค้า ย่านอุตสาหกรรม ให้เป็นสัดส่วน และเผื่อขยายตัวของเมืองในอนาคตให้เป็นไปโดยถูกต้องตามเกณฑ์การวางผังเมือง และพยายามใช้พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการเกษตร ให้เป็นประโยชน์ต่อการอุตสาหกรรม
การขนส่ง (transportation) การขนส่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่จะส่งผลต่อการกำหนดค่าใช้จ่ายในการลงทุน และค่าใช้จ่ายในการขนส่งก็จะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงหรือต่ำลงได้ จึงนับได้ว่าการขนส่งถือว่าเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาระมัดระวังรอบคอบ มีเหตุผล ทั้งนี้เพราะว่าปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ คน เครื่องจักร อุปกรณ์และสิ่วที่สนับสนุนการผลิตต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่โรงงานล้วนแต่อาศัยการขนส่งทั้งสิ้น หลังจากนั้น เมื่อโรงงานทำการแปรรูปวัตถุดิบเป็นผลิตภัณฑ์ (products) แล้วก็ต้องขนส่งสู่ตลาดอีก ปัญหาที่ต้องพิจารณาเรื่องการขนส่งก็คือ ช่วงระหว่างวัตถุดิบกับโรงงาน และช่วงระหว่างโรงงานกับตลาด หรือแหล่งจำหน่าย ช่วงดังกล่าวสามารถขนส่งได้กี่วิธี ขนส่งอย่างไรจึงจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้อยที่สุด
นอกจากนี้ในเรื่องของการขนส่ง ผู้บริหารอุตสาหกรรมควรจะพิจารณาถึงหลักดังต่อไปนี้ (เสริมศักดิ์ ตรีสัตย์, 2537 หน้า 46)
1. ทางเลือกของการขนส่ง (alternative of transport)
2. ระยะทาง (distance)
3. เวลา (time)
4. ลักษณะและสภาพของเส้นทาง (status of route)
5. ปัญหาจราจร (traffic proldem)
6. แนวโน้มในอนาคต (trend of future)
7. ลักษณะภูมิประเทศ (nature of the country)
8. ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง (cost of transport)
9. อื่น ๆ (others)
พลังงาน (energy) ธรรมชาติของอุตสาหกรรมแต่ละรูปแบบอาจมีความต้องการแหล่งต้นกำลัง และเชื้อเพลิงที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่แล้วมักจะต้องการแหล่งต้นกำลังจากกระแสไฟฟ้า โดยใช้บริการกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมากกว่า ที่จะผลิตกระแสไฟฟ้ามาใช้เอง ทั้งนี้เพราะต้นทุนการผลิตต่ำกว่า แต่บางครั้งโรงงานอาจมีเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เผื่อในกรณีกระแสไฟฟ้าดับกระทันหันหรือในยามฉุกเฉินอันมีผลกระทบกระเทือนต่อระบบการผลิต โดยเฉพาะโรงงานที่ติดตั้งระบบการผลิตแบบต่อเนื่อง (continuous products system) นั้นจะต้องคำนึงถึงสิ่งนี้ด้วย อย่างไรก็ตามยังมีอุตสาหกรรมอีหลายประเภทต้องอาศัยเชื้อเพลิงต่าง ๆ เป็นแหล่งต้นกำลังในการผลิตที่แตกต่างกัน เช่น น้ำมัน เครื่องยนต์ แก๊ส เป็นต้น
สาธารณูปโภค (public service) โรงงานอุตสาหกรรมทุกโรง จำเป็นต้องใช้น้ำ ไฟฟ้า ระบบน้ำบัดน้ำเสีย อุตสาหกรรมหลายชนิดมีมลภาวะ (pollution) ซึ่งเป็นภัยต่อชีวิตและธรรมชาติ เช่น สารเคมี น้ำมัน ซึ่งถ้าปล่อยลงแม่น้ำ ก็จะทำให้น้ำในแม่น้ำเน่าเสีย (water pollution) ควันไฟ ก๊าซบางอย่างทำให้อากาศเป็นพิษ (air pollution) โรงงานจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสังคมและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ในการพยายามกำจัดสิ่งเป็นพิษเหล่านี้ ไม่ให้เกิดมลภาวะขึ้นมาได้
ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม หมายถึง ปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของชุมชนที่โรงงานไปตั้งอยู่ ปัจจัยเหล่านี้อาจไม่มีผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิต หรือการดำเนินการแต่จะมีผลทางอ้อมต่อการดำเนินการ เช่น มีผลต่อการทำงานของคนงาน การควบคุมการทำงานของคนงาน และอื่น ๆ ปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่
1. สภาพการยอมรับของชุมชนที่มีต่อธุรกิจที่ทำอยู่ ถ้าโรงงานหรือการดำเนินการได้ผลิตสินค้าหรือบริการที่ขัดต่อความเชื่อของคนในชุมชน หรือขัดต่อหลักธรรมคำสั่งสอนทางศาสนาในชุมชน ย่อมไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน
2. สภาพความเป็นอยู่ของชุมชน คุณภาพของชีวิตในชุมชน เช่น แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ โรงมหรสพ สภาพภูมิอากาศ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานปฏิบัติกิจทางศาสนา มาตรฐานค่าครองชีพ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น
3. กฎระเบียบและกฎหมายของชุมชน เช่น ภาษีต่าง ๆ อันได้แก่ ภาษีการค้า ภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย ฯลฯ กฎหมายแรงงาน กฎหมายการจ้างงาน และอื่น ๆ
4. สภาพความรวมตัวทางธุรกิจและอุตสาหกรรมในชุมชน ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในธุรกิจ สภาพการแข่งขันทางธุรกิจ แหล่งที่มีการรวมตัวร่วมมือช่วยเหลือกันทางธุรกิจมาก ย่อมส่งเสริมต่อการดำเนินการผลิตและบริการ
นิคมอุตสาหกรรม
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
selection of plant location
การเลือกทำเลที่ตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริหารหรือ ผู้ประกอบการเพราะการค้นหาว่าจะตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ที่ใดที่หนึ่ง จะมีผลโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายทั้งที่เป็นต้นทุนคงที่และตันทุนแปรผัน ซึ่งผลกำไรจากบริษัทจะได้รับผลกระทบทันทีหากตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมไม่เหมาะสม แต่เมื่อมีความจำเป็นจะต้องเลือกสถานที่ตั้งโรงงานใหม่ ผู้บริหารหรือผู้ประกอบการก็จะต้องตัดสินใจวางแผนเลือกที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการดำเนินการ
ทำเลที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม
ทำเลที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม (plant location) หมายถึง สถานที่ที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางธุรกิจขององค์การ เช่น โรงงาน โกดังสินค้า สำนักงานใหญ่ หรือสาขา เป็นต้น ที่ตั้งโรงงานจะมีความสำคัญต่อการผลิตและการดำเนินการ การเลือกที่ตั้งจึงเป็นกระบวนการในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อกำหนดสถานที่ที่ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้สะดวก และมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยพิจารณา ต้นทุน รายได้ ความสัมพันธ์ที่มีต่อบุคลากร ลูกค้า ตลาด และวัตถุดิบ ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน
การเลือกทำเลที่ตั้งโรงงาน เป็นการตัดสินใจที่สำคัญของธุรกิจ เนื่องจากการลงทุนในแต่ละครั้งจะมีปริมาณสูงและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังการกำหนดที่ตั้งโรงงาน จะมีค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นซึ่ง (ณัฎฐพันธ์ เขจรนันทน์, 2542 หน้า 97) เสนอไว้ดังนี้
1. การลงทุน (investment) ปกติการลงทุนในสถานที่ อาคาร เครื่องจักร และอุปกรณ์ จะต้องใช้เงินลงทุนสูงและเคลื่อนย้ายยาก ซึ่งผู้บริหารต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการเช่าหรือซื้อขาดว่าทางเลือกใดมีความเหมาะสมกว่ากัน
2. ต้นทุนการบริหาร (management cost) การตัดสินใจเลือกที่ตั้งมีผลกระทบต่อการจัดการทางการเงินและต้นทุนการดำเนินงาน เนื่องจากที่ตั้งแต่ละแห่งมีต้นทุนที่แตกต่างกัน เช่น ค่าขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ การติดต่อสื่อสาร และค่าจ้างแรงงาน เป็นต้น
3. การขยายกิจการ (growth) การขยายตัวในอนาคตขององค์การทั้งด้านการดำเนินงานหรือตลาด ซึ่งผู้บริหารจะต้องพิจารณาข้อเปรียบเทียบของแต่ละทางเลือก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความคับแคบในการดำเนินงานหรือให้บริการในอนาคต แต่ถ้าธุรกิจจัดเตรียมพื้นที่มากเกินไปจะเป็นการลงทุนที่ไม่มีผลตอบแทน ตลอดจนก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงในการดำเนินงาน
4. ความได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage) เป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริหาร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของธุรกิจ ที่ตั้งที่เหมาะสมช่วยให้ต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจต่ำ ทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนที่ตั้งที่เหมาะสมช่วยดึงดูดผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับธุรกิจ
ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกที่ตั้งโรงงาน
ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานมีอยู่มากมาย อย่างไรก็ตามมักปรากฏอยู่เสมอว่า มีเพียงปัจจัยไม่กี่อย่างที่มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่น ในกรณีของโรงงานผลิตสินค้า ปัจจัยที่มีผลอย่างสำคัญต่อการเลือกที่ตั้งประกอบด้วย ความพร้อมทางด้านพลังงาน เส้นทางการขนส่ง และแหล่งวัตถุดิบ ตัวอย่างเช่น โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กกล้าต้องอยู่ใกล้แหล่งพลังงานคือไฟฟ้า โรงงานปูนซีเมนต์ต้องอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ เป็นต้น นอกจากนี้เส้นทางการขนส่งทั้งทางน้ำ บก และอากาศ ก็จะมีผลอย่างสำคัญต่อต้นทุนการผลิตและจำหน่าย
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกที่ตั้งของโรงงาน อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ปัจจัยที่เกี่ยวกับทรัพยากรการผลิต และปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม
ปัจจัยที่เกี่ยวกับทรัพยากรการผลิต ปัจจัยที่เกี่ยวกับทรัพยากรการผลิต ประกอบด้วย วัตถุดิบ ตลาดสินค้า แรงงาน ที่ดิน การขนส่ง แหล่งพลังงาน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ
วัตถุดิบ (material) การตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานที่ใกล้แหล่งวัตถุดิบมีเหตุผลหลัก คือเพื่อลดต้นทุนการผลิตอันเกิดจากการขนส่งวัตถุดิบ อุตสาหกรรมที่เลือกที่ตั้งโรงงานใกล้แหล่งวัตถุดิบ มักได้แก่อุตสาหกรรมทางการเกษตร และอุตสาหกรรมที่ต้องแร่ธาตุเป็นวัตถุดิบ ตัวอย่างเช่น โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานถลุงสังกะสี โรงงานสับปะรดกระป๋อง และโรงงานปลากระป๋อง เป็นต้น ทั้งนี้เพราะวัตถุดิบมีขนาดใหญ่น้ำหนักมากการขนส่งต้องเสียค่าใช้จายสูง และวัตถุดิบบางประเภทเกิดการเน่าเสียได้ง่าย จึงต้องรีบส่งเข้าโรงงานอย่างรวดเร็ว
ตลาด (market) โรงงานหรือการดำเนินการในลักษณะที่ใช้วัตถุดิบน้อย มักนิยมตั้งใกล้ตลาดสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการด้านการบริการ เช่น โรงแรม โรงภาพยนตร์ และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทต้องตั้งใกล้ตลาดสินค้า ทั้งนี้เพราะสินค้าที่ผลิตเกิดการเน่าเสียได้ง่าย ตัวอย่างเช่น โรงงานทำขนมปัง โรงงานไฮศครีมและนมสด เป็นต้น
ในการพิจารณาเลือกที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมว่าควรอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ หรืออยู่ใกล้ตลาด ซึ่ง (สมศักดิ์ ตรีสัตย์, 2537 หน้า 41 – 46) ได้เสนอเอาไว้ ดังนี้
1. เมื่อวัตถุดิบผ่านกรรมวิธีการผลิตในโรงงานแล้ว น้ำหนักเปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก หรือน้ำหนักไม่เปลี่ยนแปลงเลย ลักษณะเช่นนี้โรงงานควรจะอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบมากกว่าตลาด เช่น โรงงานโม่หิน โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานถลุงแร่ เป็นต้น
2. เมื่อวัตถุดิบผ่านกรรมวิธีการผลิตแล้ว น้ำหนักเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อผ่านกรรมวิธีการผลิต และสำเร็จเป็นสินค้าสำเร็จรูปออก กรณีโรงงานควรจะอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบเหมือนกัน ทั้งนี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งวัตถุดิบ เช่น โรงงานน้ำตาล ควรตั้งอยู่ใกล้ไร่อ้อย โรงงานทำสับปะรดกระป๋องควรตั้งอยู่ใกล้ไร่สับปะรด
3. เมื่อวัตถุดิบมีอยู่ทั่วไป กรณีเช่นนี้ โรงงานควรจะอยู่ใกล้ตลาด ทั้งนี้ เพราะว่าผลผลิตที่ออกจากโรงงานจะได้ส่งเข้าจำหน่ายในตลาดทันที เมื่อโรงงานอยู่ใกล้ตลาดบางครั้งลูกค้าจะเข้ามาซื้อสินค้าได้โดยตรงในโรงงาน ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งลงไปอีก
4. เมื่อวัตถุดิบเป็นของที่เน่าเสียหายง่าย เช่น กุ้ง ปลา ผลไม้ และผักต่าง ๆ อันเป็นวัตถุดิบของโรงงานทำอาหารกระป๋อง หรือผลไม้กระป๋อง โรงงานเช่นนี้ควรตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ และวัตถุดิบก็ควรจะมากพอด้วย เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาวัตถุดิบ เสี่ยงต่อความเสียน้อย หากตั้งโรงงานไกลก็จะต้องมีการขนส่งอย่างรวดเร็วและต้องลงทุนในการเก็บรักษาวัตถุดิบเพิ่ม ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ราคาสินค้าสำเร็จรูปสูงตามไปด้วย
แรงงาน แรงงานเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อุตสาหกรรมประเภทต้องใช้แรงงานมาก เช่น อุตสาหกรรมทอผ้า อุตสาหกรรมประกอบเครื่องไฟฟ้าและแผงวงจรไฟฟ้า (integrated circuit) และอุตสาหกรรมหัตถกรรมต่าง ๆ เป็นต้น ความเพียงพอของแรงงานตลอดจนค่าจ้างแรงงานของทำเลที่ตั้งโรงงานแต่ละแห่ง ย่อมมีผลอย่างสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งโรงงานใหม่ ในเมืองใหญ่หรือชุมชนใหญ่ย่อมมีแรงงานทั้งที่เป็นช่างชำนาญงานและแรงงานไม่ใช้ฝีกมืออยู่มาก แต่ค่าแรงก็มักจะสูงกว่าในเมืองเล็กหรือชุมชนเล็ก การตัดสินใจเลือกที่ตั้งโรงงานจึงต้องพิจารณาถึงความพอเพียงของแรงงานและค่าแรงงานประกอบกันที่ดิน (land) การซื้อที่ดิน เพื่อปลูกสร้างโรงงาน เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวกับเงิน ก้อนใหญ่ ตามปกติทำเลในเขตเมือง จะมีราคาสูง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ตามมาก็จะราคาสูงด้วย ดังนั้นโรงงานส่วนมากจะตั้งไกลเมืองออกไปอยู่ตามชนบท หรือชานเมือง นอกจากราคาที่ดินต้องพิจารณาแล้วลักษณะที่ดินก็จะต้องพิจารณาด้วยเหมือนกันในงานก่อสร้างโรงงาน เช่น ลักษณะที่ดินต่ำจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการถม อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุน (investment promotion) และติดตามควบคุมระบบการทำงานภายในโรงงานที่อาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสภาพสิ่งแวดล้อม ทางน้ำและทางอากาศ รัฐบาลจึงได้กำหนดเขตอุตสาหกรรม (industrial zone) ขึ้นที่เรียกว่า “นิคมอุตสาหกรรม”
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
efficient market
ความหมายของตลาดมีประสิทธิภาพ ตลาดที่มีประสิทธิภาพ (efficient market) หมายถึง ตลาดที่ราคาของหลักทรัพย์ทั้งหลาย สะท้อนข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้นอย่างรวดเร็วและทั่วถึง แนวคิดนี้มีรากฐานความเชื่อว่า ผู้ลงทุนซึมซับข่าวสารข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดอยู่ในรูปของราคาหลักทรัพย์ที่ทำให้มีการตัดสินใจซื้อหรือขาย ดังนั้น ราคาในปัจจุบันของหลักทรัพย์ จะสะท้อนถึงข่าวสารข้อมูลที่เป็นที่รู้แล้วทั้งหมด โดยไม่เพียงแต่เป็นข้อมูลในอดีต (เช่น กำไรในไตรมาสที่ผ่านมา) แต่จะรวมถึงข้อมูลในปัจจุบันและข่าวที่ประกาศไปแล้วแต่เหตุการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้นจริงเกิดขึ้น (เช่น แผนการรวมกิจการ) นอกจากนั้น ข่าวสารข้อมูลที่อนุมานขึ้นก็เป็นข้อมูลที่สะท้อนอยู่ในราคา ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ลงทุนโดยทั่วไปเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ราคาหลักทรัพย์จะสะท้อนถึงความเชื่อนี้ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นจริง (จิรัตน์ สังข์แก้ว, 2540, หน้า 260)
ข้อสมมติฐานของแนวคิดตลาดมีประสิทธิภาพ ประสิทธิภาพของตลาดจะเกิดขึ้นได้ ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้ (จิรัตน์ สังข์แก้ว, 2540, หน้า 261)
1. ในตลาดมีผู้ลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเป็นผู้ลงทุนที่มีเหตุมีผลและต้องการทำกำไรสูงสุด ณ ระดับความเสี่ยงหนึ่ง ผู้ลงทุนเหล่านี้เข้าร่วมในตลาดโดยการวิเคราะห์ ประเมินและซื้อขายหุ้น ทั้งนี้การตัดสินใจของผู้ลงทุนเพียงรายเดียวไม่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาได้
2.ไม่มีต้นทุนในการได้มาซึ่งข่าวสารข้อมูล และผู้ลงทุนแต่ละรายได้รับข่าวสารข้อมูลในเวลาไล่เลี่ยกัน
3. ข่าวสารข้อมูลเกิดขึ้นในเชิงสุ่มและข้อมูลแต่ละชิ้นไม่ขึ้นต่อกัน
4. ผู้ลงทุนสนองตอบต่อข่าวสารข้อมูลใหม่อย่างรวดเร็วและเต็มที่ เป็นเหตุให้ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงตามข่าวสารข้อมูลอย่างรวดเร็ว
แนวคิดตลาดมีประสิทธิภาพมิได้ต้องการการสะท้อนของข้อมูลข่าวสารอย่างสมบูรณ์ แต่แนวคิดนี้ระบุว่า การปรับตัวในราคาหลักทรัพย์อันเป็นผลมาจากข่าวสารข้อมูล เป็นการปรับตัวที่ไม่มีอคติหรือไม่เอนเอียง (unbias) ซึ่งหมายความว่า ค่าที่คาดไว้ของความผิดพลาดในการปรับตัวเท่ากับศูนย์ กล่าวคือ บางครั้งอาจปรับตัวมากไป บางครั้งน้อยไป แต่โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ในภาวะสมดุลและถูกต้อง ราคาที่เกิดขึ้นใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นราคาดุลยภาพ แต่เฉพาะการประมาณการอย่างไม่เอนเอียงของราคาดุลยภาพสุดท้าย จะถูกสร้างขึ้นหลังจากที่ผู้ลงทุนได้รับข่าวสารข้อมูลอย่างเต็มรูปแบบ
จากภาพ แรก แสดงภาพรวมของกลไกการปรับตัวของราคาหลักทรัพย์ ในตลาดที่มีประสิทธิภาพนั้น ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในเชิงสุ่มและไม่ขึ้นต่อกัน จะแพร่ไปสู่ผู้ลงทุนต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ผู้ลงทุนจะใช้ข่าวสารข้อมูลนี้ตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในดีมานด์หรือซัพพลายอย่างรวดเร็ว ผลคือ ราคาหลักทรัพย์จะเปลี่ยนแปลงไปตามข่าวสารข้อมูลอย่างรวดเร็วและในเชิงสุ่ม
อย่างไรก็ตามการแพร่กระจายของข่าวสารข้อมูลในแต่ละตลาดอาจมีความรวดเร็วไม่ทัดเทียมกัน เป็นผลให้ความเร็วในการปรับตัวของราคาไม่ทัดเทียมกันด้วย ดังแสดงใน ภาพ 6 แสดงถึงแนวคิดความมีประสิทธิภาพของตลาดสำหรับบริษัทหนึ่ง ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น โดยส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท โดยก่อนหน้านั้นราคาหุ้นของบริษัทซื้อขายอยู่ที่ 100 บาท วันที่ 0 คือ วันเกิดข่าวของเหตุการณ์สำคัญ ถ้าตลาดมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ราคาหุ้นจะสะท้อนถึงข่าวสารข้อมูลที่มีอยู่เสมอ ผู้ลงทุนจะปรับราคาหุ้นอย่างรวดเร็วให้เข้าหาราคาที่ถูกต้อง (fair value) สมมติว่า ราคาที่ถูกต้องใหม่เท่ากับ 110 บาท ในตลาดที่มีประสิทธิภาพนั้น ราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 110 บาท อย่างทันทีจะเกิดขึ้น ดังแสดงด้วยเส้นทึบ ดังแสดงในภาพ สอง และถ้าไม่มีข่าวสารข้อมูลอื่นเกิดขึ้น ราคาหุ้นจะยังคงอยู่ที่ 110 บาท แต่ถ้ากระบวนการปรับตัวของตลาดไม่มีประสิทธิภาพ ความล่า (lag) ของการปรับตัวของราคาหุ้นต่อข้อมูลใหม่จะเกิดขึ้น ดังแสดงในภาพ 6 โดยในที่สุดราคาหุ้นจะไปสู่ราคาที่ถูกต้องที่ 110 บาท เมื่อข่าวสารข้อมูลแพร่กระจายไปทั่ว
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
EVA กับกลุ่มพัฒนาคุณภาพงาน
EVA ชื่อย่อของ Economic Value Added เรียกเป็นไทยว่ามูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์นำมาตร EVA มาเป็นเครื่องมือวัดผลงานนานกว่า 20 ปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม EVA เริ่มมีความโด่งดังหลังการปฏิวัติแนวทางเศรษฐศาสตร์การเงิน เมื่อประมาณ 25 ปีมานี้จากการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ผู้มี ชื่อเสียงสองท่านคือ Joel M.Stern และ Bennett Stewart III
นักเศรษฐศาสตร์มีแนวความคิด ในการสร้างมูลค่าเพิ่มนั้นองค์กรจะต้องสร้างกำไรให้ได้มากกว่าแค่ การชำระต้นทุนการดำเนินงานแต่ต้องเพียงพอที่จะชำระต้นทุนเงินของผู้ถือหุ้นในองค์กรอีกด้วย
Warren Buffett กล่าวไว้ว่า
“We feel noble intention should be checked periodically against results.
We test the wisdom of retaining earnings by assessing whether retention, over time, deliver shareholders at least $1 of market value for each $1 retained”
“สิ่งที่เรารู้สึกได้ถึงการได้รับความสนใจอันทรงเกียรติ และมีค่านี้ควรอย่างยิ่งที่ต้องมีการสำรวจตรวจสอบผลลัพธ์ที่ได้อย่างสม่ำเสมอ พวกเราทดสอบปัญญาในการเก็บครองรักษารายได้ด้วยการประเมินว่าเราจะต้องแสวงหารายได้คืนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งเหรียญ (ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) ของมูลค่าตลาด สำหรับทุก ๆ หนึ่งเหรียญที่เราถือครอง”
EVA คำนวณ โดยใช้กำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษี ลบด้วยต้นทุนเงินทุน ที่ใช้ไปเพื่อสร้างกำไรนั้น ๆ
“ มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐศาสตร์ = กำไรจากการดำเนินงานหลังหักภาษี – ต้นทุนเชิงทุน ”
ค่า EVA ที่เป็นบวกชี้ให้เห็นว่าองค์กรกำลังสร้างมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ค่า EVA ที่เป็นลบเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนภัยซึ่งองค์กรควรตรวจสอบว่าค่า EVA ในอนาคตจะยังเป็นลบหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว หมายความว่าองค์กรกำลังลดมูลค่าของตัวเองลง หากเหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินการต่อไป (ค่า EVA ติดลบมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง) ในที่สุดองค์กรจะหมดความหมายและสาบสูญจากสังคมไปนอกจากนั้น การคำนวณ EVA ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของการใช้เงินทุนในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนและช่วยให้องค์กรตัดสินใจใช้เงินทุนได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นในแนวความคิดของ EVA จึงเป็นแนวความคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร
EVA ให้ความสำคัญสูงสุดกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม
การสร้างมูลค่าเพิ่ม หมายถึง การนำทรัพยากรไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าได้สูงสุด หากไม่มุ่งมั่นกับการสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว การใช้ทรัพยากรขององค์กรจะเป็นไปอย่างสิ้นเปลือง และสังคมโดยรวมสูญเสียมูลค่าทางโอกาสในการสร้างคุณค่าจากการใช้ทรัพยากรเหล่านั้น
ต้นทุนเงินทุน
ประสิทธิภาพตามแนวคิด EVA เกิดขึ้นจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง จะทราบได้ว่าองค์กรกำลังสร้างมูลค่าอยู่หรือไม่ก็ต่อเมื่อได้คำนวณต้นทุนที่แท้จริงของเงินทุนที่ใช้ไป โดยต้นทุนเงินทุนขององค์กรสามารถแสดงในรูปคณิตศาสตร์ได้ดังนี้
ต้นทุนเงินทุน = อัตราต้นเงินทุน (ค่าเสียโอกาสของผู้ถือหุ้น) X เงินทุน
ต้นทุนเงินทุนคือ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของ EVA ในแนวทางการบันทึกบัญชีโดยทั่วไปองค์กรส่วนใหญ่ผลประกอบการที่ดูเหมือนมีกำไรทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะกำไรทางบัญชีทั่วไปจะหักเพียงค่าใช้จ่ายในการกำเนินงานโดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนเงินทุนจากส่วนผู้ถือหุ้น เราอาจคิดว่าเงินทุนจากส่วนผู้ถือหุ้นไม่มีต้นทุนเพราะเราไม่จำเป็นต้องจ่าย แต่แท้จริงแล้วเงินทุนจากส่วนของผู้ถือหุ้นมีต้นทุนอยู่ด้วย และเป็นต้นทุนที่สูงมากจนอาจคาดไม่ถึง
ต้นทุนเงินทุน คือ มูลค่าที่ผู้ถือหุ้นอาจได้รับจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นและเงินปันผลหากนำเงินไปลงทุนในองค์กรที่มีความเสี่ยงเทียบเท่ากับองค์กรของเรา นี่คือมูลค่าที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost)
หากองค์กรบริหารจัดการเงินทุนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงการให้ผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าทรัพยากรที่ตนใช้ไป ซึ่งเป็นการทำลายความมั่งคั่งของสังคมโดยรวม (สังคมในภาพรวมได้รับความเสียหาย)
EVA แก้ไขข้อผิดพลาดนี้ด้วยการยอมรับว่า เมื่อใช้เงินทุนองค์กรจะต้องจ่ายต้นทุนของเงินทุนเช่นเดียวกับ ที่จ่ายต้นทุนให้กับแรงงาน (ของบุคลากร เช่น คนงาน ลูกจ้าง พนักงาน ผู้บริหารเป็นต้น) การที่ EVA คิดต้นทุน เงินทุนทั้งหมด ทำให้สามารถแสดงมูลค่าที่องค์กรได้เสริมสร้าง หรือล้างผลาญเป็นจำนวนเงินอย่างชัดเจนในแต่ละช่วงระยะเวลาของการรายงานผลประกอบการ
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
VBM ประกอบด้วย
(1) พื้นฐานของมูลค่าทางศีลธรรมโดยรวม (Universal Moral Value) ซึ่งเริ่มจากมูลค่าภายในของพนักงาน ลูกค้าและผู้ป้อนสินค้าแต่ละราย
(2) ความสำเร็จในตลาด ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการส่งมอบมูลค่าสูงสุดให้กับลูกค้า (คุณภาพสูง ราคาต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ)
(3) รางวัลซึ่งขึ้นอยู่กับมูลค่าที่แต่ละบุคคลมอบให้กับบริษัท ทั้งแบบตัวบุคคลและแบบทีมทั้งในฐานะลูกจ้างและเจ้าของ
EVA
EVA เป็นตัววัดผลปฏิบัติงานที่ VBM นำมาใช้เป็นมาตรวัดด้านการเงินของผลตอบแทนและมูลค่าในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ EVA ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดของกำไรทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Profit) ที่เรียกกันว่า “กำไรส่วนที่เหลือ” (Residual Income) ซึ่งกล่าวว่าความมั่งคั่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อกิจการสามารถสร้างรายได้จนสามารถชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (Operating Costs) และต้นทุนเงินทุน (Cost of Capital) ได้จนหมดสิ้น
ด้วยความหมายแคบ ๆ เช่นนี้ EVA อันที่จริงแล้วจึงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการมองผลการปฏิบัติงานขององค์กร อย่างไรก็ตาม การมอง EVA เช่นนี้ดูจะแคบเกินไป เนื่องจากมุมมองดังกล่าวมองข้ามคุณประโยชน์ที่สำคัญ ๆ ที่ EVA ก่อให้เกิดขึ้นกับการบริหารองค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่า (Value-Driven Firm)
หากมองอย่างพื้นฐานที่สุดอาจกล่าวว่า EVA เป็นตัววัดผลปฏิบัติงานตัวหนึ่ง แต่ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องหากจะจำกัดบทบาท EVA ไว้เพียงแค่ตัววัดผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ เพราะ EVA ทำหน้าที่เป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติโดยการเชื่อมโยงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นเข้าด้วยกัน กล่าวคือเมื่อผู้บริหารกำหนดกลยุทธ์ขึ้น พวกเขาควรจะต้องกำหนดขึ้นโดยมีเป้าหมายในการสร้างกระแส EVA สูงสุดในอนาคตกลับมายังกิจการ
การจัดสรรทุนก็เช่นกันต่างได้รับประโยชน์จากการนำ EVA มาใช้ เนื่องจากเมื่อนำ EVA ไปเชื่อมโยงกับผลตอบแทนที่ฝ่ายบริหารจะได้รับ EVA จะเป็นสิ่งจูงใจฝ่ายบริหารที่เหนียวแน่นในอันที่จะเฟ้นหาและเลือกลงทุนในโครงการลงทุนที่จะก่อให้เกิดมูลค่ากลับมายังองค์กร อันที่จริงแล้วแนวทางของ EVA ส่วนใหญ่ที่นำมาใช้จะมุ่งเน้นไปที่การนำ EVA มาผูกโยงกับผลตอบแทนของฝ่ายบริหาร
ข้อดีของ EVA ประการหนึ่งคือเป้าหมายจะสามารถกระจายสู่ส่วนงานและแผนกต่าง ๆ ในองค์กร(ในบางครั้งไปในรูปของตัวผลักดัน EVA แทนที่จะเป็น EVA โดยตัวของมันตามลำพัง) ด้วยวิธีการเช่นนี้งบประมาณดำเนินงานขององค์กรซึ่งรวมถึงงบประมาณที่จัดสรรไปยังหน่วยงานย่อยที่อยู่ในระดับที่ลึกลงไปในระดับสายงานต่าง ๆ ในองค์กรจะสามารถเชื่อมโยงโดยตรงเข้ากับข้อกำหนดต่าง ๆ ของตลาดทุน
ประการสุดท้าย EVA เป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงอันหนึ่ง ทั้งในแง่ของ
(1) การทำให้แนวคิดการสร้างมูลค่ากระจายไปสู่ผู้บริหารในระดับ Line ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดผลการปฏิบัติงานในองค์กรขึ้นในที่สุด
(2) การติดต่อสื่อสารกับตลาดทุน
Young และ O’Byrne (2001) เชื่อว่าหาก EVA มีการนำไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสมจะช่วยให้องค์กรสามารถติดตั้งโปรแกรม VBM ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และหากมอง EVA ในลักษณะที่รวมทุกอย่างเข้าด้วยกันเช่นนี้ EVA ก็จะเกิดความกลมกลืนไปกับแนวคิด VBM โดยปริยาย
ความสัมพันธ์ระหว่าง EBITDA, NOPAT, EVA และ Free Cashflow
มักมีคำถามเสมอ ๆ ว่า EVA มีความแตกต่างไปจากตัววัดผลดำเนินงาน เช่น EBITDA, NOPAT และ Free Cashflow ที่หลายกิจการใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างไร EBITDA, NOPAT และ Free Cashflow เป็นตัววัดผลดำเนินงานที่คำนวณขึ้นตามแนวคิดทางบัญชีซึ่งไม่ได้มีการนำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินทุนเข้ามาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ตัววัดผลดังกล่าวยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของกำไรที่คำนวณขึ้นภายใต้หลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งหลักการบัญชีดังกล่าวอาจทำให้ EBITDA, NOPAT และ Free Cashflow ไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงเชิงเศรษฐกิจ (economic reality) ที่กิจการประสบอยู่ในแต่ละช่วงเวลา
องค์ประกอบของ EVA
หลังจากทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่าง EBITDA, NOPAT, Free Cashflow และ EVA ในรูปแบบของงบกำไรขาดทุนตามที่ได้แสดงไว้ข้างต้นแล้ว ในส่วนนี้จะแสดงองค์ประกอบของ EVA ในเชิงที่สัมพันธ์กันกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่จัดทำขึ้นตามแนวทางปฏิบัติของมาตรฐานการบัญชี
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินทุน (Capital Charges) = ทุนที่ลงไปถัวเฉลี่ย (Average Invested Capital) * ต้นทุนเงินทุน (Cost of Capital)
จะเห็นได้ว่า ในการคำนวณหาค่า EVA นั้น จำเป็นจะต้องทราบทุนที่ลงไป (Invested Capital) ว่ามีจำนวนเท่าไร โดยอาศัยข้อมูลจากงบดุลนั่นเอง แต่ใช่ว่างบดุลที่ผู้อ่านเคยเห็นตามปกติจะสามารถนำมาใช้ได้ทันที ผู้อ่านจำเป็นที่จะต้องนำงบดุลปกติมาดัดแปลงใหม่ให้อยู่ในรูปของงบดุลตามแนวคิด EVA โดยย้ายหนี้สินที่ไม่มีภาระดอกเบี้ยไปหักออกจากรายการสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นที่มิใช่เงินสด เพื่อให้ได้ยอด “เงินทุนหมุนเวียน” เหตุผลที่ต้องย้ายหนี้สินที่ไม่มีภาระดอกเบี้ยไปหักออกจากรายการสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นที่มิใช่เงินสดเพื่อให้ได้ยอด “เงินทุนหมุนเวียน” ก็เนื่องจากในการคำนวณต้นทุนเงินทุนถัวเฉลี่ย (WACC) โครงสร้างเงินทุนที่นำมาใช้ในการหาต้นทุนเงินทุนถัวเฉลี่ยประกอบด้วยโครงสร้างเงินทุนที่ได้มาจากการก่อหนี้กับโครงสร้างเงินทุนที่มาจากผู้ถือหุ้น โดยที่โครงสร้างเงินทุนที่ได้มาจากการก่อหนี้ในที่นี้ หมายถึง โครงสร้างเงินทุนที่ได้มาจากการก่อหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยนั่นเอง
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ (Economic Value Added)
ในช่วงที่ผ่านมาคำยอดฮิตติดหูทางด้านศาสตร์การบริหารและการเงินคงจะไม่มีคำใดมากเกินไปกว่า “การบริหารที่เน้นมูลค่า” (Value-Based-Management) หรือ VBM กับ “มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ” (Economic Value Added) อย่างไรก็ตาม มักเกิดความสับสนระหว่าง “การบริหารที่เน้นมูลค่า” (Value-Based-Management) หรือ VBM กับ “มูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ” (Economic Value Added) หรือ EVA ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้สลับกันไปมา แต่โดยทั่วไปแล้ว VBM เป็นแนวคิดที่กว้างกว่าเมื่อเทียบกับ EVA
VBM เป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งเน้นความต้องการของตลาดซึ่งคิดค้นโดย Louis Kelso และ Mortimer Adler VBM เป็นวิธีการที่จะทำให้บุคลากรแต่ละคนในองค์กร
(1) มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ทั้งในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติงานและเจ้าขององค์กร
(2) ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมกับการทุ่มเทให้กับองค์กรทั้งในฐานะผู้ปฏิบัติงานและเจ้าขององค์กร
(3) ร่วมกับบุคลากรอื่นในการแก้ไขปัญหาหรือข้อผิดพลาดในระบบที่มีผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมและตอบแทน ยิ่งบุคลากรมีความสนใจในสิ่งเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้ความพึงพอใจของทั้งลูกค้าและบุคลากรเพิ่มขึ้นซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุน การมีรายได้และผลกำไรเพิ่มขึ้น
ภายใต้แนวคิดของ VBM มูลค่าขององค์กรจะวัดจากกระแสเงินสดในอนาคตที่ปรับค่าของเงินตามระยะเวลาแล้ว มูลค่าขององค์กรดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อองค์กรได้ลงทุนในโครงการและได้รับผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนที่ลงไป VBM จะมุ่งความสนใจไปยังวิธีที่องค์กรจะนำมูลค่านี้มาใช้ในการสร้างกลยุทธ์รวมและการตัดสินใจในการดำเนินงานทั่วไป วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการบริหารที่นำการกำหนดเป้าหมายและการจัดการเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของฝ่ายบริหารมาใช้เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับองค์กร
ระบบ VBM จึงมีความคล้ายคลึงกับระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจอื่น แต่ก็มีจุดแตกต่างไปจากระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจอื่นตรงที่ว่า VBM จะรวมการสื่อสารเป้าหมายกลยุทธ์จากผู้บริหารไปยังพนักงานระดับปฏิบัติการและการส่งรายงานผลการปฏิบัติงานจากผู้ปฏิบัติงานมายังผู้บังคับบัญชา โดยอาศัยทั้งข้อมูลในอดีตและข้อมูลที่เกิดจากการพยากรณ์เพื่อสนับสนุนวงจรการจัดการหรือบริหารมูลค่าทั้งหมด
ระบบดังกล่าวทำให้สามารถรวบรวมและเปรียบเทียบข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรกับเป้าหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวัดผลการปฏิบัติงานและสามารถนำมาสร้างสารสนเทศเพื่อการจัดการ สารสนเทศเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผลด้วยการสร้างแบบจำลองและสถานการณ์ที่ทำให้เกิดเป็นองค์ความรู้ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการวางแผนกลยุทธ์ แผนเหล่านี้จะถูกนำไปแปลงเป็นเป้าหมาย ซึ่งจะผลักดันการจัดการผลการปฏิบัติงานเพื่อให้ครบวงจร
VBM จึงเป็นแนวคิดของการจัดการที่พยายามปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดของบุคลากรทุกคนในองค์กรในอันที่จะต้องเรียนรู้ที่จะจัดลำดับความสำคัญการตัดสินใจก่อนหลังโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจที่ว่าการตัดสินใจนั้นก่อให้เกิดมูลค่าแก่องค์กรอย่างไร ซึ่งหมายถึงว่ากระบวนการและระบบหลัก ๆ ทั้งหมดในองค์กรจะมุ่งเข้าสู่การสร้างมูลค่า (Creation of Value) และสร้างความมั่งคั่งจากการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความมั่งคั่งและผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
ตัวอย่างเช่น การสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นถือเป็นเป้าหมายหลักในการจัดการ Supply Chain ของกิจการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ แนวคิด VBM จะช่วยองค์กรในการวัดผลจากการจัดการ VBM จึงเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ การประเมินผลปฏิบัติงาน และกระบวนการในการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น
VBM ทำให้คุณภาพ การศึกษาและการมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้เกิดการจัดการคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management) Open Book Management และแนวคิดการเป็นเจ้าขององค์กร โดยการสร้างระบบที่มีโครงสร้างเพื่อกระจายอำนาจไปสู่พนักงานระดับล่าง ทั้งนี้รวมถึงการสร้างโอกาสให้กับพนักงานในการมีส่วนร่วมในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับการเจริญเติบโตขององค์กรและรายได้ในแต่ละช่วงเวลาซึ่งคำนวณจากเกณฑ์ศูนย์กำไร (Profit center basis) โปรแกรม VBM แบบเบ็ดเสร็จรวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
• การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Planning)
• การจัดสรรทุน (Capital Allocation)
• งบประมาณดำเนินงาน (Operating Budgets)
• การวัดผลปฏิบัติงาน (Performance Measurement)
• ผลตอบแทนไปสู่ฝ่ายบริหาร (Management Compensation)
• การสื่อสารภายใน (Internal Communication)
• การสื่อสารภายนอก (External Communication) (กับตลาดทุน)
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Knowles (1975, pp. 14-17) กล่าวถึง การเรียนรู้ด้วยตนเองว่ามีความสำคัญ 4 ประการ คือ 1. บุคคลที่เรียนรู้ด้วยการริเริ่มของตนจะเรียนได...
-
ข้อมูลบริษัท บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนการค้าระหว่าง ฮอนด้ามอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น กับบริษัท พี ไทยแลนด์ จำกัด ดำเนินธุรกิจ...
-
สภาพแวดล้อมภายนอกองค์การเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงมีความสำคัญมากในการกำหนดกลยุทธ์ด้วยเหตุผล 4 ประการคือ ประการแรก สภาพแวดล้อมเป็นทั...
-
การวิเคราะห์ สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กร (SWOT) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กรทางการศึกษา เพื่อศึกษาแนวโน้มการพัฒนาการศึกษา...
-
1. องค์กรแบบปฐม (Primary Organization) เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยสมาชิอกขององค์กรมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันดี และรูปแบบของความสัมพั...