Custom Search

การจ้างงานภายนอก (outsourcing)

Posted on วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 by modal

การทำธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ (globalization) องค์การต่าง ๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในองค์การได้ ถ้าองค์การใด ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมองค์การนั้นจะไม่สามารถอยู่ในโลกธุรกิจได้ การจ้างงานภายนอก (outsourcing) เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งเหมือนกับ การควบกิจการ (merger) การซื้อกิจการ (acquisitions/diversifiers) การเปิดและปิดโรงงานผลิต (plant opening and closing) การปรับโครงสร้างองค์การ (reorganization) การรื้อปรับระบบกระบวนการทำงาน (re-engineering) การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจ ตลาดโลก ความพึงพอใจ ของลูกค้า กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ปัญหาที่จะต้องแก้ไข คือ จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งองค์การและพนักงานในองค์การ (Michael F. Corbett & Associates, Ltd., 2002, p. 2)
การจ้างงานภายนอกเป็นแนวทางหนึ่งที่องค์การต่าง ๆ นำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารองค์การในยุคปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริหารเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้องค์การพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ใช้ทรัพยากรที่น้อยลงแต่ได้ประสิทธิผลที่มากกว่าเดิม สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นมากขึ้น การจ้างงานภายนอก บ่อยครั้งที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสาธารณะ สาเหตุจากการเลิกจ้างพนักงานไม่สามารถอธิบายเหตุผลการเลิกจ้างกับสาธารณะได้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น Bell Canada, Blue Cross Blue Shield of Massachusetts และ Boeing แต่องค์การที่ประสบความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงนี้ก็มี เช่น The detroit Medical Central, The Houston Public School District’s และ Microsoft (Michael F. Corbett & Associates, Ltd., 2003, pp. 3-4)
แนวความคิดการจ้างงานภายนอกไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ หากแต่การจ้างงานภายนอกนั้นได้เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ในประเทศอังกฤษมาแล้ว แต่ที่แพร่หลายมากที่สุดคือในช่วงครึ่งปีหลังของปี 1980 และต่อเนื่องไปจนถึงปี 1990 เมื่อแนวคิดของการทำธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจของการให้บริการ การจ้างงานภายนอกเป็นรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์ที่มีการทำสัญญาร่วมกัน (contractual relationship) เพื่อส่งมอบงานหรือบริการตามแต่ที่จะตกลงกัน แต่ความสัมพันธ์รูปแบบนี้จะแตกต่างจากความสัมพันธ์อื่น ๆ กล่าวคือ ประกอบไปด้วยขั้นตอนสำคัญ 4 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก (the discovery phase) เป็นขั้นตอนเตรียมการที่องค์การที่ต้องการจะจ้างงานภายนอก ต้องทำการประเมินภายในเปรียบเทียบตัวเองกับองค์การคู่แข่งขัน เพื่อให้เข้าใจถึงศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ ซึ่งบางครั้งเมื่อองค์การประเมินตัวเองแล้ว องค์การอาจจะต้องทำการรื้อปรับระบบตัวเองแทนที่จะทำการจ้างงานภายนอก ขั้นตอนที่สอง (the negotiation phase) องค์การที่ต้องการจะจ้างงานภายนอก แสวงหาบริษัทผู้ให้บริการและพยายามที่จะเจรจาเพื่อให้เกิดการตกลงทำงานร่วมกัน ภายใต้ปรัชญาแนวคิดที่ทั้งสององค์การต้องพยายามปรับเข้าหากันให้ได้ เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาและการบูรณาการความคิดเห็น ขั้นตอนที่สาม (the transition phase) เป็นขั้นของการเตรียมการ การวางแผนการทำงานล่วงหน้าและขั้นตอนสุดท้าย (the assessment phase) เป็นขั้นตอนที่คู่สัญญา (vender) เริ่มที่จะผลิตสินค้าและบริการ มีการตรวจสอบติดตามประเมินผล โดยมีการเทียบเคียงกับมาตรฐาน (benchmarking) ของหน่วยงานที่ดีที่สุด ซึ่งถ้าการประเมินผลผ่านก็จะมีการทำสัญญาต่อไป การที่องค์การจะตัดสินใจจ้างงานภายนอก จึงเป็นการตัดสินใจที่ต้องมีพันธะผูกพันตามมา จึงไม่ใช่การกระทำตามกระแสหรือการกระทำตามแฟชั่น (นิสดาร์ก เวชยานนท์, 2548, หน้า 2)
การจ้างงานภายนอกเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงปี ค.ศ. 2001 ที่ผ่านมาการจ้างงานภายนอกประมาณว่าเป็นเงินทั้งสิ้น 3.7 ล้านล้านเหรียญ และอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 5.1 ล้านล้านเหรียญในปลายปี ค.ศ. 2003 (นิสดารก์ เวชยานนท์, 2548, หน้า 2) International Association of Outsourcing Professionals (2006) ได้ศึกษาวิจัยการจ้างงานภายนอกและคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต พบว่า งานสารสนเทศจะเป็นงานที่มีการใช้งบประมาณการจ้างงานภายนอกเป็นส่วนใหญ่ งานด้านการเงิน จะเป็นงานที่มีการใช้งบประมาณการจ้างงานภายนอกน้อย ผลการวิจัยสรุปว่าปลายปี ค.ศ. 2000 การจ้างงานภายนอก ของแต่ละหน่วยงานจะเป็นดังนี้
1. Information Technology การจ้างงานภายนอกเพิ่มร้อยละ 11 ใช้งบประมาณร้อยละ 22.5 ของงบประมาณ
2. Marketing and Sales การจ้างงานภายนอกเพิ่มร้อยละ 23 ใช้งบประมาณร้อยละ 21.7 ของงบประมาณ
3. Human Resource การจ้างงานภายนอกเพิ่มร้อยละ 22 ใช้งบประมาณร้อยละ 15.8 ของงบประมาณ
4. Finance การจ้างงานภายนอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3 ใช้งบประมาณร้อยละ 14.2 ของงบประมาณ
5. Operations การจ้างงานภายนอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ใช้งบประมาณร้อยละ 14.1 ของงบประมาณ
การจ้างงานภายนอกแพร่หลาย ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลที่ The 2004 World Summit พบว่า การจ้างงานภายนอกมีมูลค่าร้อยละ 25 ของงบประมาณ ซึ่งคาดว่าอีก 18 เดือนข้างหน้าจะมีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 34 ของงบประมาณ

0 Responses to "การจ้างงานภายนอก (outsourcing)":

บทความที่ได้รับความนิยม