Greaver (1999, pp. 4-5) ได้สรุปพื้นฐานความเป็นจริงที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยส่งเสริม ให้องค์การจ้างงานภายนอก เนื่องจากองค์การขนาดใหญ่ไม่มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขันอีกต่อไป คู่แข่งที่มีขนาดเล็กแต่สามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วและเจาะตลาดได้ สามารถเปลี่ยนอุตสาหกรรมได้ในพริบตา วงจรสินค้าและบริการมีการลดระยะเวลาและเพิ่มความรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง ทำให้เกิดความจำเป็นที่องค์การต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วตามไปด้วย แรงกดดันเชิงการแข่งขันนับวันจะเพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบมีลักษณะรุนแรงมากขึ้นต่อองค์การโดยเฉพาะในระดับเศรษฐกิจโลก การปรับปรุงผลงานด้านการเงินและการปฏิบัติการเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการอยู่รอดในระยะยาวและความสำเร็จขององค์การ อุปทานหรือปัจจัยป้อน (supplies) ด้านความชำนาญและความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มีอยู่มากมายและเหลือเฟือ ดังนั้น การจัดจ้างให้ทำงานภายในองค์การอย่างถาวรจึงเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยจำเป็นในปัจจุบัน ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและล้ำยุค (cutting-edge technology) ได้กลายเป็นเครื่องมือการแข่งขันแต่ก็มีราคาแพงในการจัดหาไว้ใช้ในองค์การ นอกจากนี้บ่อยครั้งที่องค์การไม่สามารถดำเนินการเองให้ประสบความสำเร็จ
นิสดารก์ เวชยานนท์ (2548, หน้า 3-5) ได้สรุปเหตุผลที่องค์การตัดสินใจจ้างงานภายนอก มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ คือ
1. เหตุผลทางด้านการเพิ่มขนาดการผลิตที่ประหยัด (scale economies) การที่องค์การที่มีความชำนาญด้านใดด้านหนึ่งมาก ๆ สามารถผลิตสินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่งในปริมาณที่มากและรักษาคุณภาพตามมาตรฐาน จะช่วยทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าชนิดนั้นลดลง เพราะใช้หลักการแบ่งงานกันทำและทำให้เกิดความชำนาญเฉพาะอย่าง ซึ่งจะทำให้ประหยัดต้นทุนทางการบริหารองค์การต่าง ๆ แยกระหว่างงาน ที่สำคัญ และเอางานที่ไม่สำคัญไปจ้างงานภายนอก เพื่อช่วยให้องค์การสามารถส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดีที่สุดให้กับลูกค้า ปัจจุบันองค์การเป็นระบบเปิดมากขึ้น องค์การต้องตอบสนองคนกลุ่มต่าง ๆ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญขององค์การ คือ ผู้ถือหุ้น ทำให้การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์การเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้น การนำการวัดผลทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Added--EVA) เข้ามาใช้ยิ่งทำให้ผู้บริหารองค์การต้องพยายามสร้างผลกำไรและหาทางลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด วิธีหนึ่ง ที่จะลดค่าใช้จ่ายได้ก็คือ ลดกิจกรรม หรืองานที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ให้ผู้ให้บริการภายนอกไปดำเนินการแทน
2. เหตุผลทางด้านกลยุทธ์ (strategic sourcing) แนวคิดในการจ้างงานภายนอกควรที่กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์ขององค์การ การจ้างงานภายนอกไม่ควรทำ เพราะเกิดจากแรงบีบคั้นจากสภาพแวดล้อมภายนอก การที่องค์การกำหนดเป็นกลยุทธ์จะช่วยให้องค์การสามารถตอบสนองความต้องการ 3 ประการ คือ ช่วยให้เกิดการปรับปรุงกลยุทธ์ (strategic improvement) เช่น การลดค่าใช้จ่ายและการเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของการทำงาน (strategic business impact) เช่น การทำการจัดโซ่อุปทาน (supply chain management) การจ้างกระบวนการธุรกิจ (business process outsourcing) และช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบทางการค้า (strategic business advantage) เช่น การเพิ่มพูนนวัตกรรม (innovation) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R & D)
General Motors ได้กำหนดการจ้างงานภายนอกอยู่ในแผนกลยุทธ์โดยการทำการ จัดการโซ่อุปทาน (supply chain management) บริษัทที่ทำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งหลายนำแนวคิดการจ้างงานภายนอกมาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะช่วยลดค่าใช้จ่าย ช่วยในการเพิ่มพูนนวัตกรรม ทำให้บริษัทหันมาทุ่มเททางด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น นอกจากนี้ นักวิชาการบางท่าน เช่น Williamson, Charlesand Sung ให้เหตุผลเพิ่มเติมของการจ้างงานภายนอก คือ ปรับปรุงสิ่งจูงใจให้แก่ผู้บริหาร ยิ่งถ้าผู้บริหารสามารถที่จะลดค่าใช้จ่ายได้และสนใจพัฒนากระบวนการที่เป็นความสามารถหลัก (core competency) ขององค์การมากเท่าไรก็จะมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น บริษัทที่ปรึกษา Price Waterhouse Coopers ได้ศึกษาวิจัยพบว่า การจ้างงานภายนอกได้ขยายขอบเขตจากการตัดบางกิจกรรม ไปเป็นการตัดกระบวนการออกไปจ้างงานภายนอก รวมทั้งมีแนวโน้มที่จ้างงานภายนอกกับงานที่ใช้ความรู้ (intellectual based system) เช่น บริษัท Daimler Chrysler ผู้ผลิต รถยนต์รายใหญ่ของโลกได้ให้บริษัท Anderson Consulting ทำการผลิตรถที่เรียกว่า “Smart Car” ในประเทศฝรั่งเศส (Quinn & Hilmer อ้างถึงใน นิสดารก์ เวชยานนท์, 2548, หน้า 4)
โดยสรุปเหตุผลที่องค์การต่าง ๆ จ้างงานภายนอกประกอบด้วยเหตุผลดังนี้ คือ เป็นการลดและควบคุมค่าใช้จ่าย ต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ขาดทรัพยากรหรือขาดศักยภาพภายใน กระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงระบบซึ่งเป็นส่วนของการปรับรื้อกระบวนการธุรกิจ ต้องการกระจายความเสี่ยง กระตุ้นการเรียนรู้เพื่อเข้าสู่ธุรกิจใหม่และปรับปรุงคุณภาพ
Michael F. Corbett & Associates, Ltd. (2004, p. 4) ได้สำรวจ ผู้เข้าร่วมสัมมนา 433 คน ประกอบด้วยกลุ่มลูกค้า กลุ่มผู้ให้บริการภายนอก ที่ปรึกษา 257 บริษัทจากทวีปอเมริกาเหนือและทั่วโลก ในการประชุม The 2004 outsourcing world summit พบว่าเหตุผลที่ องค์การจ้างงานภายนอกมีเหตุผลหลายประการ ไม่ใช่เป็นการประหยัดเพียงอย่างเดียว
สาเหตุและปัจจัยที่องค์การจ้างงานภายนอก
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
ความหมายของการจ้างงานภายนอก
Outsourcing หมายถึง “The Practice of Subcontracting Manufacturing Work to Outside and Especially Foreign or Nonunion Companies” กล่าวคือ เป็นหลักปฏิบัติในการทำสัญญาให้หน่วยงานภายนอก ผลิต/บริการแทนโดยเฉพาะการให้บริษัทต่างประเทศ หรือบริษัทที่ไม่มีสหภาพแรงงาน (Merriam-Webster Incorporated, 1996, p. 827)
Heywood (2001, p. 27) ให้ความหมาย “การจ้างงานภายนอก” คือ การส่งต่อกิจกรรมทางธุรกิจหรืองานภารกิจภายในองค์การพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ให้บริการจากภายนอกองค์การที่เสนอให้บริการงานนั้นๆ ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ตามที่ได้ตกลงด้วยราคาค่าจ้างที่เหมาะสม Domberger (1998, p. 12) อธิบาย สัญญาจ้างและการจ้างงานภายนอก (contracting and outsourcing) ว่า “สัญญาจ้าง” หมายถึง แบบการสนับสนุนความสัมพันธ์ตามสัญญาข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้จำหน่าย ส่วน “การจ้างงานภายนอก” หมายถึง กระบวนการที่กิจกรรมต่าง ๆ โดยปกติจะดำเนินการเองภายในองค์การ ได้ถูกทำสัญญาจ้างให้ผู้ให้บริการภายนอกเป็นผู้ดำเนินการแทน Greenwood (1998, Abstract) ให้ความหมาย “การจ้างงานภายนอก” คือ การโอนย้ายกิจกรรมที่องค์การเคยปฏิบัติกันเองไปให้ผู้ให้บริการภายนอกองค์การจัดทำแทน Click and Duening (2005, p. 4) ให้ความหมาย “การจ้างงานภายนอกกระบวนงานธุรกิจ” (business process outsourcing) หมายถึง การโอนย้ายกระบวนงานธุรกิจจากภายในองค์การให้กับผู้ให้บริการงานภายนอกดำเนินการแทน
Cook (1999, p. 1) ให้ความหมาย “การจ้างงานภายนอก” หมายถึง การใช้บริการจากบุคคลที่สามเข้ามาจัดการกับงานธุรกิจหลักที่มีความสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจก้าวไปหรือกิจกรรมที่โดยปกติพนักงานภายในองค์การเป็นผู้ลงมือปฏิบัติเอง Greaver (1999, p. 3) อธิบายความหมายของการจ้างงานภายนอกไว้ว่า หมายถึง การส่งต่อกิจกรรมและการตัดสินใจขององค์การบางส่วนให้กับผู้ให้บริการจากภายนอกในรูปของการทำสัญญา มีลักษณะแตกต่างจากการใช้ที่ปรึกษาตรงที่การจ้างงานภายนอกไม่ได้หมายถึงแค่การส่งต่อกิจกรรมเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงปัจจัยในการผลิตและสิทธิในการตัดสินใจด้วย ปัจจัยการผลิต หมายถึง ทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย คน วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี และสินทรัพย์ต่าง ๆ ส่วนสิทธิในการตัดสินใจ หมายถึง ความรับผิดชอบในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของกิจกรรม
สุชาดา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา (2541, หน้า 17) สรุปความหมาย “การจ้างงานภายนอก” หมายถึง ยุทธวิธีในการจัดกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดความกระชับเหมาะสมกับขนาดและค่าใช้จ่าย เกิดกระบวนการจ้างบุคคลภายนอกให้เป็นผู้ให้บริการงานบางอย่างซึ่งควรเป็นงานที่จัดขึ้นในองค์การนั้นเอง โดยต้องคำนึงถึงลักษณะงาน บุคลากร และค่าใช้จ่าย แวง (2542, หน้า 248) สรุปความหมายว่า “การจ้างงานภายนอก” หมายถึง การโอนสินทรัพย์ เช่น คอมพิวเตอร์ เครือข่าย และบุคลากรจากภายในองค์การไปสู่ผู้ให้บริการภายนอกที่คอยรับจัดการงานให้จากภายนอกโดยตรง โกวิทย์ กังสนันท์ (2544, หน้า 2-5) สรุปความหมายว่า “การซื้อบริการจากหน่วยงานภายนอก (outsourcing) หมายถึง การดำเนินการเคลื่อนย้าย หรือถ่ายโอนกิจกรรม/งานประจำภายในบางอย่าง (recurring internal activities) รวมถึงสิทธิการตัดสินใจ (decision rights) ขององค์การให้ผู้ให้บริการจากภายนอก โดยจัดทำในรูปของข้อตกลงสัญญา (contract) ร่วมกัน นิสดารก์ เวชยานนท์ (2548, หน้า 2-3) สรุปความหมายว่า การจัดซื้อสินค้าหรือบริการจากภายนอก (outsourcing) หมายถึง การตัดงาน หรือกิจกรรม หรือหน้าที่บางประการออกไปให้คนอื่นทำ โดยปกติในอดีตที่ทำมาก็มักจะตัดงานที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ให้บริษัทอื่นรับช่วงไปทำ ปัจจุบันการจัดซื้อสินค้าหรือบริการจากภายนอก จะขยายไปสู่การเป็นหุ้นส่วน (partners) ซึ่งผู้ที่มาเป็นหุ้นส่วนอาจจะเสนอบริการอย่างอื่นนอกเหนือจากกิจกรรมหรือบริการเดียวอย่างแต่ก่อน อาจจะเป็นกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งขององค์การทั้งหมด บางครั้งกระบวนการ เหล่านี้ก็เป็นกระบวนการที่สำคัญของธุรกิจด้วย
จากความหมายทั้งหมด สรุปได้ว่า การจ้างงานภายนอกเป็นแนวคิด วิธีการ หรือกลยุทธ์ของการบริหารงานรูปแบบหนึ่ง โดยส่งต่อกิจกรรมที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก หรือกระบวนการบางกระบวนการที่เป็นธุรกิจหลัก ซึ่งองค์การเคยปฏิบัติเอง โดยเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยี พนักงานบางส่วน อาจส่งต่อทั้งหมดที่กล่าวมาหรือบางส่วนให้กับ ผู้ให้บริการจากภายนอกซึ่งมีความชำนาญและมีความพร้อมมากกว่าเป็นผู้ดำเนินการให้ องค์ประกอบสำคัญของการจ้างงานภายนอกประกอบด้วย การถ่ายโอนกิจกรรมให้หน่วยงานภายนอกหรือผู้ให้บริการดำเนินการแทน หน่วยงานภายนอกเป็นผู้จัดหาปัจจัยการผลิต เช่น คน เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวก เทคโนโลยี และอื่น ๆ ดำเนินการให้เกิดกิจกรรมหรือการถ่ายโอนสิทธิการตัดสินใจในการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานภายนอก สิทธิการตัดสินใจ หมายถึง ความรับผิดชอบในการตัดสินใจและ แก้ปัญหาเกี่ยวกับองค์ประกอบงานที่องค์การได้ถ่ายโอนให้แก่หน่วยงานภายนอกไปแล้ว
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
การจ้างงานภายนอก (outsourcing)
การทำธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ (globalization) องค์การต่าง ๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในองค์การได้ ถ้าองค์การใด ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมองค์การนั้นจะไม่สามารถอยู่ในโลกธุรกิจได้ การจ้างงานภายนอก (outsourcing) เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งเหมือนกับ การควบกิจการ (merger) การซื้อกิจการ (acquisitions/diversifiers) การเปิดและปิดโรงงานผลิต (plant opening and closing) การปรับโครงสร้างองค์การ (reorganization) การรื้อปรับระบบกระบวนการทำงาน (re-engineering) การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจ ตลาดโลก ความพึงพอใจ ของลูกค้า กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ปัญหาที่จะต้องแก้ไข คือ จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งองค์การและพนักงานในองค์การ (Michael F. Corbett & Associates, Ltd., 2002, p. 2)
การจ้างงานภายนอกเป็นแนวทางหนึ่งที่องค์การต่าง ๆ นำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารองค์การในยุคปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริหารเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้องค์การพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ใช้ทรัพยากรที่น้อยลงแต่ได้ประสิทธิผลที่มากกว่าเดิม สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นมากขึ้น การจ้างงานภายนอก บ่อยครั้งที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสาธารณะ สาเหตุจากการเลิกจ้างพนักงานไม่สามารถอธิบายเหตุผลการเลิกจ้างกับสาธารณะได้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น Bell Canada, Blue Cross Blue Shield of Massachusetts และ Boeing แต่องค์การที่ประสบความสำเร็จจากการเปลี่ยนแปลงนี้ก็มี เช่น The detroit Medical Central, The Houston Public School District’s และ Microsoft (Michael F. Corbett & Associates, Ltd., 2003, pp. 3-4)
แนวความคิดการจ้างงานภายนอกไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ หากแต่การจ้างงานภายนอกนั้นได้เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ในประเทศอังกฤษมาแล้ว แต่ที่แพร่หลายมากที่สุดคือในช่วงครึ่งปีหลังของปี 1980 และต่อเนื่องไปจนถึงปี 1990 เมื่อแนวคิดของการทำธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจของการให้บริการ การจ้างงานภายนอกเป็นรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์ที่มีการทำสัญญาร่วมกัน (contractual relationship) เพื่อส่งมอบงานหรือบริการตามแต่ที่จะตกลงกัน แต่ความสัมพันธ์รูปแบบนี้จะแตกต่างจากความสัมพันธ์อื่น ๆ กล่าวคือ ประกอบไปด้วยขั้นตอนสำคัญ 4 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก (the discovery phase) เป็นขั้นตอนเตรียมการที่องค์การที่ต้องการจะจ้างงานภายนอก ต้องทำการประเมินภายในเปรียบเทียบตัวเองกับองค์การคู่แข่งขัน เพื่อให้เข้าใจถึงศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ ซึ่งบางครั้งเมื่อองค์การประเมินตัวเองแล้ว องค์การอาจจะต้องทำการรื้อปรับระบบตัวเองแทนที่จะทำการจ้างงานภายนอก ขั้นตอนที่สอง (the negotiation phase) องค์การที่ต้องการจะจ้างงานภายนอก แสวงหาบริษัทผู้ให้บริการและพยายามที่จะเจรจาเพื่อให้เกิดการตกลงทำงานร่วมกัน ภายใต้ปรัชญาแนวคิดที่ทั้งสององค์การต้องพยายามปรับเข้าหากันให้ได้ เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาและการบูรณาการความคิดเห็น ขั้นตอนที่สาม (the transition phase) เป็นขั้นของการเตรียมการ การวางแผนการทำงานล่วงหน้าและขั้นตอนสุดท้าย (the assessment phase) เป็นขั้นตอนที่คู่สัญญา (vender) เริ่มที่จะผลิตสินค้าและบริการ มีการตรวจสอบติดตามประเมินผล โดยมีการเทียบเคียงกับมาตรฐาน (benchmarking) ของหน่วยงานที่ดีที่สุด ซึ่งถ้าการประเมินผลผ่านก็จะมีการทำสัญญาต่อไป การที่องค์การจะตัดสินใจจ้างงานภายนอก จึงเป็นการตัดสินใจที่ต้องมีพันธะผูกพันตามมา จึงไม่ใช่การกระทำตามกระแสหรือการกระทำตามแฟชั่น (นิสดาร์ก เวชยานนท์, 2548, หน้า 2)
การจ้างงานภายนอกเติบโตอย่างรวดเร็ว ในช่วงปี ค.ศ. 2001 ที่ผ่านมาการจ้างงานภายนอกประมาณว่าเป็นเงินทั้งสิ้น 3.7 ล้านล้านเหรียญ และอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 5.1 ล้านล้านเหรียญในปลายปี ค.ศ. 2003 (นิสดารก์ เวชยานนท์, 2548, หน้า 2) International Association of Outsourcing Professionals (2006) ได้ศึกษาวิจัยการจ้างงานภายนอกและคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต พบว่า งานสารสนเทศจะเป็นงานที่มีการใช้งบประมาณการจ้างงานภายนอกเป็นส่วนใหญ่ งานด้านการเงิน จะเป็นงานที่มีการใช้งบประมาณการจ้างงานภายนอกน้อย ผลการวิจัยสรุปว่าปลายปี ค.ศ. 2000 การจ้างงานภายนอก ของแต่ละหน่วยงานจะเป็นดังนี้
1. Information Technology การจ้างงานภายนอกเพิ่มร้อยละ 11 ใช้งบประมาณร้อยละ 22.5 ของงบประมาณ
2. Marketing and Sales การจ้างงานภายนอกเพิ่มร้อยละ 23 ใช้งบประมาณร้อยละ 21.7 ของงบประมาณ
3. Human Resource การจ้างงานภายนอกเพิ่มร้อยละ 22 ใช้งบประมาณร้อยละ 15.8 ของงบประมาณ
4. Finance การจ้างงานภายนอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3 ใช้งบประมาณร้อยละ 14.2 ของงบประมาณ
5. Operations การจ้างงานภายนอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ใช้งบประมาณร้อยละ 14.1 ของงบประมาณ
การจ้างงานภายนอกแพร่หลาย ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลที่ The 2004 World Summit พบว่า การจ้างงานภายนอกมีมูลค่าร้อยละ 25 ของงบประมาณ ซึ่งคาดว่าอีก 18 เดือนข้างหน้าจะมีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 34 ของงบประมาณ
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
การเรียนรู้ทุกวิธีจะมีขั้นตอนเพื่อเป็นแนวทางการเรียนรู้
การเรียนรู้ทุกวิธีจะมีขั้นตอนเพื่อเป็นแนวทางการเรียนรู้ สำหรับขั้นตอนการเรียนรู้ด้วยตนเอง Gross (อ้างถึงใน สมบูรณ์ ศาลยาชีวิน, 2526, หน้า 267) อธิบายว่า ขั้นตอนการเรียนรู้ของบุคคล ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การรับรู้สิ่งแปลกใหม่ เป็นการเรียนรู้ในรูปของความรู้สึกกับความแปลกใหม่ที่ได้พบเห็น กับความรู้ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ น่าท้าทายสติปัญญา
ขั้นตอนที่ 2 การครุ่นคิดตรึกตรอง เป็นการเรียนรู้อย่างมีระบบ มีการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงพยายามให้ได้มาซึ่งความรู้ ความจริง อย่างมีระบบแบบแผน
ขั้นตอนที่ 3 การซาบซึ้งและการสร้างสรรค์ เป็นความพร้อมที่จะลงมือปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
Tough (อ้างถึงใน วิไลพร มณีพันธ์, 2539, หน้า 27-29) อธิบายขั้นตอนการวางแผน การเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนี้
1. การตัดสินใจว่า ในการะบวนการเรียนรู้นั้นอะไรเป็นความรู้ ทักษะที่จะเรียนรู้ ผู้เรียนอาจจะมองหาข้อผิดพลาดและจุดอ่อนของความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยพิจารณาทั้งด้านทักษะ และรูปแบบการเรียนรู้ในปัจจุบัน
2. การตัดสินใจว่า จะเรียนรู้กิจกรรมเฉพาะอย่างไร วิธีการ แหล่งวิชาการหรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเรียนมีอะไรบ้าง ในข้อนี้ผู้เรียนควรศึกษาว่าตนเองมี ความต้องการเฉพาะด้านอะไร เกณฑ์ที่ใช้เลือกแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้เฉพาะอย่าง การรวบรวมความรู้ ข้อเท็จจริง การเข้าถึงระดับและความหมายของแหล่งทรัพยากร การเรียนรู้หรือกิจกรรมเฉพาะด้าน ผู้เรียนอาจดูจากหนังสือ บทความ ก่อนการเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ในกรณีที่เป็นแหล่งทรัพยากรบุคคล อาจตัดสินใจว่า บุคคลประเภทใดที่จะให้เนื้อหาวิชาที่ต้องการได้และพยายามหาบุคคลเหล่านั้น ซึ่งเลือกสรรแล้วว่าเหมาะสมที่สุด
3. ตัดสินใจว่า จะเรียนที่ใด ผู้เรียนอาจเลือกบริเวณที่เงียบ สะดวก สบายและไม่มีผู้ใดมารบกวนหรืออาจจะต้องการสถานที่ซึ่งมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวก
4. วางเป้าหมาย หรือกำหนดระยะเวลาการทำงานที่แน่นอน
5. ตัดสินใจว่า จะเริ่มเรียนเรื่องใด เมื่อใด
6. ตัดสินใจว่า ช่วงระยะเวลาใด เนื้อหาควรจะก้าวไปเท่าใด
7. พยายามหามูลเหตุที่เป็นอุปสรรค ที่ทำให้การเรียนรู้ไม่ประสบความสำเร็จหรือหาขั้นตอนส่วนที่ทำให้กระบวนการเรียนรู้ไม่มีประสิทธิภาพ
8. การหาเวลาสำหรับการเรียนรู้ขั้นตอนนี้จะเกี่ยวข้องกับการลดเวลาหรือจัดเวลาให้เหมาะสมกับการทำงาน กิจกรรมในครอบครัว หรือการพักผ่อน โดยอาจจะขอไม่ให้บุคคลอื่นรบกวนในเวลาที่กำลังศึกษา หรือขอให้ผู้อื่นทำงานแทนเป็นครั้งคราว
9. ประเมินระดับความรู้และทักษะหรือความก้าวหน้าของตน
10. การเข้าถึงแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้หรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนนี้ ผู้เรียนอาจหาเวลาว่างไปในที่ต่าง ๆ ค้นคว้าจากหนังสือในห้องสมุด ตลอดจนการพบบุคคลที่เอื้อต่อการเรียนรู้
11. การสะสมหรือหาเงินที่จำเป็นสำหรับประโยชน์ในการหาแหล่งวิทยาการ การซื้อหนังสือ การเช่าอุปกรณ์บางอย่างตลอดจนค่าใช้จ่ายในการศึกษา
12. เตรียมสถานที่หรือจัดห้องเรียนให้เหมาะสมสำหรับการเรียน โดยคำนึงถึงสภาพอากาศ แสงสว่าง เป็นต้น
13. เพิ่มขั้นตอนที่จะเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ ผู้เรียนอาจหาวิธีเพิ่มแรงจูงใจเพื่อที่จะเพิ่มความก้าวหน้าในการเรียนหรือเพิ่มความพอใจ พยายามเน้นความสำคัญของ
การเรียน ซึ่งสิ่งที่จะทำได้มีดังนี้
13.1 หาสาเหตุของการขาดแรงจูงใจ
13.2 พยายามเพิ่มความสุข ความยินดีในการเรียนรู้หรือเพิ่มความสนใจใน
กิจกรรมการเรียนรู้
13.3 จัดการกับการขาดความเชื่อมั่นในความสามารถของตนที่จะเรียนรู้หรือจัดการกับความสงสัยในความสำเร็จของโครงการที่เรียนรู้
13.4 เอาชนะความรู้สึกผิดหวังท้อแท้ที่มีสาเหตุจากความลำบาก
13.5 บอกกล่าวผู้อื่นถึงความสำเร็จของตน
ขั้นตอนการวางแผน การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นกระบวนการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ ซึ่งผู้เรียนเป็นผู้จัดระบบการเรียนของตนเองด้วยการจัดการด้านเวลาที่ใช้ในการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนด้วยการเตรียมความพร้อมให้กับตนเองในด้านต่าง ๆ รู้จักวิธีเรียนในชั้นเรียนและเรียนด้วยตนเอง ตลอดจนรู้จักใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้เพื่อการศึกษาค้นคว้าต่อไป
สรุปว่า การเรียนรู้ด้วยตนเองจึงเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการศึกษาในสภาวการณ์ของสังคมปัจจุบัน ซึ่งความสำเร็จของการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น มีเงื่อนไขและปัจจัยหลักอยู่ที่ตัวผู้เรียนที่ต้องมีวินัย ความมุ่งมั่นและนิสัยใฝ่เรียน ใฝ่รู้ ดังนั้น การเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยสถาบันทางสังคมทุกส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันครอบครัว และสถานศึกษาที่มีหน้าที่บ่มเพาะและขัดเกลาในวัยเยาว์ต้องปลูกฝังนิสัยแห่งการเรียนรู้ รวมถึงสถาบันอื่น ๆ ที่จะช่วยกันสร้างสรรค์บรรยากาศที่จะส่งเสริมหรือจูงใจให้เกิดการเรียนรู้
บรรณานุกรม
กัญจนพร บุญมั่น. (2548). ความต้องการใช้ e-Learning ของนักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์). มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
วิไลพร มณีพันธ์. (2539). ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลและสภาพแวดล้อมในการทำงานกับความพร้อมในการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองของพยาบาลประจำการโรงพยาบาลของรัฐ กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สมบูรณ์ ศาลาชีวิน. (2526). จิตวิทยาเพื่อการศึกษาผู้ใหญ่. เชียงใหม่: ลานนาการพิมพ์.
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
ลักษณะของการเรียนรู้ด้วยตนเอง
การเรียนรู้ด้วยตนเองมีลักษณะดังนี้ (พัชรี พลาวงศ์, 2536, หน้า 84-85)
1. Availability วิธีเรียนชนิดนี้จะเรียน เมื่อไรที่ไหน ก็ได้ตามความพอใจโดยเลือกเรียนตามเวลาที่ผู้เรียนว่าง ทำให้ผู้เรียนเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากผู้เรียนบางคนทำให้การเรียนล้มเหลวได้
2. Self-paced เมื่อผู้เรียนเลือกสถานที่ได้ตามความพอใจแล้วผู้เรียนจะใช้เวลาในการทำความเข้าใจบทเรียนได้เต็มที่ บางคนอาจใช้เวลา 1 ชั่วโมงต่อหนึ่งบทเรียน บางคนอาจใช้เวลา 5 ชั่วโมงก็ได้ แต่ประสิทธิภาพเท่ากัน คือ เข้าใจทั้งบทเรียน เนื่องจากความสามารถในการรับรู้ของผู้เรียนแต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน
3. Objectives แบบเรียนที่ผู้เรียนเรียนด้วยตนเอง ต้องบอกวัตถุประสงค์ในแต่ละบทไว้ให้ชัดเจน เพราะถ้าผู้เรียนสามารถตอบคำถามของวัตถุประสงค์ได้ทั้งหมดแสดงว่าผู้เรียนเข้าใจบทเรียนนั้น ๆ
4. Interaction การมีปฏิสัมพันธ์กันในขณะเรียน ช่วยให้ผู้เรียนสนุกกับการเรียน โดยผู้สอนอาจชี้แนะหรือให้การปรึกษาเกี่ยวกับการวางแผนกิจกรรมการเรียน
5. Tutor Help ผู้สอนมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน
6. Test as Learning Situation ในบทเรียนหนึ่ง ๆ จะมีแบบทดสอบ ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือวัดตามวัตถุประสงค์ ไม่ใช่การประเมินผลการเรียนเพื่อให้ผู้เรียนสอบได้หรือตก หรือในภาคปฏิบัติอาจใช้วิธีทดสอบเป็นรายบุคคล
7. การเลือกวิธีเรียน ผู้เรียนแต่ละคนย่อมมีวิธีเรียนแบบที่ตนชอบ ฉะนั้นผู้เรียนสามารถเลือกวิธีเรียนที่เหมาะกับตนเอง ขณะเดียวกันผู้เรียนก็มีอิสระในการเลือกเรียนบทเรียนก่อนหลังได้
การเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-directed learning) เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนมีความตระหนักและรับผิดชอบต่อแผนการเรียนของตนเอง ผู้เรียนจะทำการวางแผนและกำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ เลือกแหล่งข้อมูลเลือกวิธีการเรียนรู้ และการประเมินผลด้วยตนเอง โดยจะมีผู้ช่วยเหลือหรือไม่มีผู้ช่วยเหลือก็ได้
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
ความสำคัญของการเรียนรู้ด้วยตนเอง
Knowles (1975, pp. 14-17) กล่าวถึง การเรียนรู้ด้วยตนเองว่ามีความสำคัญ 4 ประการ คือ
1. บุคคลที่เรียนรู้ด้วยการริเริ่มของตนจะเรียนได้มากกว่า ดีกว่าบุคคลที่เป็นเพียงผู้รับหรือรอให้ผู้สอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ บุคคลที่เรียนรู้ด้วยตนเองจะเรียนอย่างตั้งใจ มีจุดมุ่งหมายและมีแรงจูงใจสูง สามารถใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ได้ดีกว่า และยาวนานกว่าบุคคลที่รอรับการสอนแต่อย่างเดียว
2. การเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความสอดคล้องกับกระบวนการทางธรรมชาติของจิตวิทยาพัฒนาการ เมื่อแรกเกิดบุคคลต้องพึ่งผู้อื่น จำเป็นต้องมีบิดามารดาปกป้องและตัดสินใจแทน แต่เมื่อบุคคลเติบโตขึ้นมีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นจะค่อย ๆ พัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นอิสระไม่ต้องพึ่งผู้อื่น ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมหรือกำกับของผู้อื่นจะมีความเป็นตัวของตัวเองเพิ่มขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง และชี้นำตนเองได้
3. มีนวัตถกรรมทางการศึกษาเพิ่มขึ้นมาก เช่น มีหลักสูตรใหม่ ห้องเรียนแบบเปิด ศูนย์วิทยบริการ การศึกษาอย่างอิสระ โปรแกรมการเรียนที่จุดสำหรับบุคคล ภายนอก การศึกษาระบบมหาวิทยาลัยเปิด เป็นต้น รูปแบบของนวัตกรรมเหล่านี้ล้วนแต่เป็นความรับผิดชอบของผู้เรียนที่จะต้องเริ่มจากการริเริ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง
4. ความเปลี่ยนแปลงของโลกหลาย ๆ ด้านอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในการศึกษา ได้แก่
4.1 ความรู้ต่าง ๆ ที่มนุษย์เรียนรู้ และสะสมไว้จะค่อย ๆ ล้าสมัยและหมดไปภายในเวลา 10 ปี หรือน้อย ดังนั้นจึงต้องพัฒนาทักษะดังกล่าวเมื่อบุคคลจบการศึกษาไปแล้วก็ยังสามารถแสวงหาความรู้เพิ่มเติมได้ เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความรู้ใหม่เท่าทันโลก
4.2 ความหมายของ "การเรียนรู้" หมายถึง การที่ผู้เรียนเริ่มเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้เรียน เช่น เรียนรู้จากบิดา มารดา เพื่อน ครู สถาบันต่าง ๆ หรือจากสื่อมวลชน เป็นต้น นั่นก็คือ การเรียนรู้จะเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต และบุคคลสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
4.3 การเรียนรู้ด้วยตนเอง จะไม่จำกัดอายุผู้เรียน ผู้เรียนมีโอกาสที่จะตัดสินใจเลือกเรียนตามความสนใจและความต้องการที่จะเรียนรู้ผู้เรียนที่อยู่ในวัยเยาว์ควรเน้นทักษะ การเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อจะได้ใช้ทักษะนี้ในการแสวงหาความรู้ให้ทันต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Knowles (1975, pp. 14-17) กล่าวถึง การเรียนรู้ด้วยตนเองว่ามีความสำคัญ 4 ประการ คือ 1. บุคคลที่เรียนรู้ด้วยการริเริ่มของตนจะเรียนได...
-
ข้อมูลบริษัท บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนการค้าระหว่าง ฮอนด้ามอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น กับบริษัท พี ไทยแลนด์ จำกัด ดำเนินธุรกิจ...
-
สภาพแวดล้อมภายนอกองค์การเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงมีความสำคัญมากในการกำหนดกลยุทธ์ด้วยเหตุผล 4 ประการคือ ประการแรก สภาพแวดล้อมเป็นทั...
-
การวิเคราะห์ สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กร (SWOT) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กรทางการศึกษา เพื่อศึกษาแนวโน้มการพัฒนาการศึกษา...
-
1. องค์กรแบบปฐม (Primary Organization) เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยสมาชิอกขององค์กรมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันดี และรูปแบบของความสัมพั...