Custom Search

Individual Psychology

Posted on วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554 by modal

ทฤษฎีบุคลิกภาพของ Adler หรือ ทฤษฎีจิตวิทยารายบุคคล ( Individual Psychology )
ประวัติ Alfred Adler เกิดประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1870 ครอบครัวของเขามีฐานะปานกลาง Adler เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน การศึกษาหลังจากเรียนจบการศึกษาเบื้องต้นแล้วเขาได้เข้าการศึกษาแพทย์ที่ Vienna Medical School จากการศึกษาที่นี่เขาได้รับการเน้นว่าแพทย์ต้องทำการรักษาคนไข้ทุกเรื่อที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาทั้งหมดไม่เฉพาะแต่เรื่องความเจ็บป่วยเท่านั้น Adler ชอบคำสอนที่ว่า “ถ้าคุณต้องการเป็นหมอที่ดี คุณก็ต้องเป็นคนที่มีความเมตตากรุณา” ( If you want to be a good doctor, you have to be a kind person) คำกล่าวนี้เป็นสิ่งที่เขาสนใจมากและจดจำไม่ลืม
เมื่อเขาได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์แล้วเขาได้ตั้งคลีนิคส่วนตัวในย่านที่อยู่อาศัยของคนชั้นกลางซึ่งมีฐานะไม่ค่อยดีเท่าใดนักในเมืองVienna ใกล้ๆ กับสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง คนไข้ของเขามีทั้งศิลปินและนักกายกรรมซึ่งมาเปิดการแสดงที่สวนสาธารณะแห่งนี้ ในจำนวนคนไข้เหล่านี้มีคนไข้บางคนที่ทำให้ Adler พบว่าเขาเหล่านั้นได้พบความสำเร็จ มีพละกำลังหรือความแข็งแรงที่เกิดจากประสบการณ์ของความอ่อนแอและความเจ็บป่วยของตน ชักนำให้เกิดขึ้น จุดนี้เองทำให้ Adler สนใจในความคิดเรื่องการได้รับความสำเร็จจากการชดเชย และได้กลายมาเป็นความคิดรวบยอด (concept) ที่สำคัญอย่างหนึ่งในทฤษฎีบุคลิกภาพของเขา
นักจิตวิทยาในกลุ่มของ Adler ได้เข้ามาทำงานร่วมกับ Freud ต่อมาเขาไม่เห็นด้วยกับ Freud ในเรื่องของความฝัน (dreams) และได้ตีพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นนี้ ปี 1910 เขาได้รับเลือกเป็นประธานคนแรกของสมาคมจิตวิทยาวิเคราะห์ (Vienna Psycho – Analytic Society) ในระยะหลังๆ Adler ไม่เคยสร้างความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับ Freud หรือกับนักจิตวิทยาคนสำคัญๆ ในกลุ่มจิตวิเคราะห์ เขาไม่ใช่คนที่จะสยบให้กับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า และประกอบคำถามและคำวิจารณ์ความคิดบางอย่างในทฤษฎีของ Freud อย่างตรงไปตรงมาเป็นเหตุให้เขาต้องลาออกจากสมาคมนี้ไปในปี ค.ศ. 1911
หลังจากนั้น Adler ก็ได้มารวบรวมนักจิตวิทยาที่มีความคิดเห็นตรงกันตั้งกลุ่มจิตวิทยาขึ้นใหม่ เรียกชื่อว่า Society for Free Psycho – Analytic Research การตั้งชื่อเช่นนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงการไม่เห็นด้วยวิธีการที่ Freud ศึกษาคนไข้ แต่ในปี 1913 เขาได้เปลี่ยนชื่อสมาคมนี้ใหม่เป็น Individual Psychology เป็นชื่อที่สะท้อนถึงความเกี่ยวข้องต่างๆ ที่จะเข้าใจบุคลิกภาพทั้งหมด ไม่ใช่เพียงด้านใดด้านหนึ่งในเรื่องพฤติกรรมเท่านั้น ความหมายอีกอย่างหนึ่งของคำว่า “รายบุคคล (individual)” คือการแสดงสิ่งที่ปรากฏทั้งหมดหรือสิ่งที่อยู่ในรายบุคคล แต่คำ ๆ นี้มักนำไปใช้เป็นความหมายในการศึกษารายบุคคล (study of the individual) ซึ่งเป็นการศึกษาที่ตรงกันข้ามกับการศึกษาพฤติกรรมเป็นกลุ่ม และไม่ใช่ความหมายในทัศนะของ Adler ในทฤษฎีของ Adler คำว่า “รายบุคคล” (individual) สามารถเข้าใจได้จากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสมาชิกอื่นๆ ในสังคม
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 Adler ได้เป็นแพทย์รักษาทหารที่บาดเจ็บในโรงพยาบาลในกรุงเวียนนา (Vienna hospital) ซึ่งทำให้เขาได้รับประสบการณ์ต่างๆ กว้างขวางขึ้น เขาได้ค้นพบความสำคัญของมโนมติ (concept) ในเรื่องความสนใจสังคม (social interest) เขาได้เห็นความทารุณโหดร้ายของสงครามที่มีต่อประชาชน สงครามเป็นผลมาจากการขาดความไว้วางใจ และขาดความร่วมมือกัน สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจในการเขียนผลงานเพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อมูลทั่วๆ ไปของมนุษย์ เช่น ความต้องการที่จะร่วมมือกัน (cooperation) ความรัก (love) และการได้รับการยอมรับนับถือระหว่างมนุษย์ด้วยกัน (respect) ในขณะเดียวกันเขาก็ให้ความช่วยเหลือที่จะสร้างคลีนิคแนะแนวเด็กขึ้นในโรงเรียนในกรุงเวียนนา (child guidance clinic) ให้คำปรึกษาแก่เด็กและครอบครัว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 เป็นต้นมา
Adler เป็นนักจิตวิทยาที่ได้รับการยอมรับระหว่างประเทศเขาได้ไปบรรยายในยุโรป สหรัฐอเมริกา และได้ถึงแก่กรรมด้วยหัวใจวาย ขณะที่ได้รับเชิญเป็นอาจารย์อาคันตุกะ (tour lecture) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1937
จิตวิทยารายบุคคล (Individual Psychology) เป็นทฤษฎีรายบุคคลที่มุ่งทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์โดยคำนึงถึงความซับซ้อนและการจัดระบบของแต่ละบุคคล
โครงสร้างของทฤษฎี
โครงสร้างทฤษฎีบุคลิกภาพ มีแนวความคิดที่สำคัญๆ ของ Adler มี 6 เรื่องต่อไปนี้
1. การยึดถือสิ่งที่เป็นจินตนาการ ( Fictional Finalism )
2. การแสวงหาความยิ่งใหญ่ ( Striving for Superiority )
3. ความรู้สึกด้อยและการชดเชย ( Inferiority Feeling and Compensation )
4. ความสนใจสังคม ( Social Interest )
5. แบบแผนชีวิต ( Style of Life )
6. การเลี้ยงดูของพ่อแม่ โดยจะอธิบายเป็นภาพรวมดังนี้
Adler เชื่อในเรื่องอิทธิพลของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมมีผลต่อบุคลิกภาพของบุคคล
นอกจากนี้เขายังเชื่อว่าสถานการณ์ที่กดดันจะทำให้บุคคลที่พิการ หรือคนที่ขาดสามารถย้ำให้เห็นบุคลิกภาพที่โดดเด่นได้ยิ่งขึ้น และ เขาสรุปโครงสร้างทฤษฎีของเขาว่า การสร้างบุคลิกภาพเป็นผลสืบเนื่องมาจากสิ่งที่เป็นมาแต่กำเนิด ( Organism ) เพราะมนุษย์มีระยะเวลาที่เป็นทารกนานในช่วงนั้นบุคคลจะได้รับอิทธิพลของเจตคติในครอบครัวของตน หรืออิทธิพลของพ่อแม่ ผู้ปกครองซึ่งทำให้บุคคลอาจ รู้สึกถึงความรู้สึกด้อยและพยายามหาทางชดเชย โดยวิธีการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อลบล้างเพื่อให้ตนรู้สึกดีในกลุ่มผู้ใหญ่โดยการแสวงหาความยิ่งใหญ่ การยึดถือสิ่งที่เป็นจินตนาการและเดินไปสู่จิตนาการแห่งตนโดยมีความรู้สึกเกี่ยวกับสังคมและความสนใจสังคมซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาการของบุคคล ซึ่งถือเป็นเรื่องของการมีสามัญสำนึก ( Common sense ) ดังนั้นวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกคนมีแบบแผนชีวิตที่หลากหลายกันไป และสิ่งสำคัญในเรื่องของชีวิตและในเรื่องการเลี้ยงดู การพัฒนาบุคลิกภาพในช่วง 5 ปีแรกนั้น สิ่งแวดล้อม ( Milieu )ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และยังรวมถึงเจตคติที่พ่อแม่มีต่อเด็ก สัมพันธภาพระหว่างพี่น้องก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในการพัฒนาบุคลิกภาพ ดังนั้นพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกมีบุคลิกภาพที่ดี พ่อแม่ควรจะส่งเสริมให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง ให้ความรักกับลูกของท่าน ให้ความยุติธรรม ไม่ช่วยเหลือลูกจนลูกทำอะไรเองไม่เป็น มีความเข้าใจในตัวลูกของท่านและที่สำคัญคือท่านต้องสามารถรับฟังความคิดเห็นลูกท่านได้ และไม่ว่าลูกจะเกิดในลำดับใดหากลูกได้รับความรู้สึกที่ดีๆ ดังกล่าวจากพ่อแม่สมบูรณ์ การพัฒนาบุคลิกภาพจะเป็นไปตามแบบแผน แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธว่าลำดับการเกิดมีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ
ความสัมพันธ์ของครอบครัวกับบุคลิกภาพ
ในเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวเขาเชื่อว่า ลำดับการเกิดทำให้บุคลิกภาพของบุคคลแตกต่างกัน เช่น
1. ลูกคนโต มักจะมีบุคลิกภาพ เป็นคนเอาจริงเอาจังต่อชีวิต มีความรับผิดชอบ มักเป็น
ผู้นำ ผู้ไว้อำนาจแต่ถ้าแก้ความก้าวร้าวไม่ได้ ลูกคนโตมักมีบุคลิกภาพก้าวร้าว เคร่งเครียด และอิจฉาริษยา
2. ลูกคนรอง มักมีบุคลิกภาพ เป็นคนไม่เคร่งเครียด ไม่เอาจริงเอาจังเท่าไรนัก มีนิสัย
รักสนุก ไม่ค่อยสนใจที่จะเป็นผู้นำหรือรับผิดชอบสักเท่าไร แต่เมื่อลูกคนรองมีน้อง ความรู้สึกการแข่งขันจะเกิดขึ้นทันที ถ้าในครอบครัวมีสัมพันธภาพไม่ดีอาจทำให้ลูกคนรองที่กลายมาเป็นคนกลางอาจมีความรู้สึกว่าพ่อแม่ลำเอียง และเกิดปัญหาในที่สุด
3. ลูกคนสุดท้อง มักมีบุคลิกภาพเป็นคนที่เอาแต่ใจตนเอง ช่างประจบ ชอบให้คนอื่น
ช่วยเหลือ ได้รับความรักจากพ่อแม่พี่ๆ ค่อนข้างมาก ถ้าเลี้ยงดีก็จะดีมากแต่ถ้าเลี้ยงตามใจมากเด็กอาจเสียในที่สุด
4. ลูกโทน มักจะมีบุคลิกภาพที่มักจะเอาแต่ใจตนเอง มักถูกตามใจจนเคยตัว แต่ถ้า
ครอบครัวสอนให้รู้เหตุรู้ผลลูกโทนจะมีความเชื่อมั่นในตนเอง องอาจ นับถือตนเอง แต่ความรับผิดชอบอาจน้อยเพราะต้องการอะไรก็มักจะได้โดยง่ายจึงไม่รู้ค่าของสิ่งที่มี
แนวคิดของ Adler ยังเน้นถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และเขาบอกว่าการดูคนต้องดูทั้งหมด ดูทุกแง่ทุกมุมและนำความรู้จากการดูนั้นมาทำความเข้าใจบุคคลนั้นทั้งหมด ( Person as a whole ) และเด็กจะรู้ถึง”ตน” เมื่ออายุ 2 ขวบ และเด็กก็จะรู้ถึงความ”เด่น” และความ”ด้อย” ด้วยเช่นกัน

0 Responses to "Individual Psychology":

บทความที่ได้รับความนิยม