Custom Search

ทฤษฎีบุคลิกภาพของErikson หรือ ทฤษฎีจิตสังคม

Posted on วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554 by modal

ทฤษฎีจิตสังคม (Psychosocial Theory of Personality ) ผู้ให้กำเนิดทฤษฎี คือ
Erik Homburger Erikson ดังอธิบายรายละเอียดดังนี้
ประวัติErik H. Erikson เป็นนักจิตวิทยาคลินิก เกิดที่เมือง Frankfurt ประเทศเยอรมัน เมื่อปี 1902 หลังจากที่เข้าเกิดไม่นานพ่อก็แยกจากแม่เขาไป ต่อมา Theodor Homburger ได้รับเขาเป็นบุตรบุญธรรม หนังสือของเขาที่พิมพ์ก่อนปี ค.ศ. 1939 จะปรากฏว่าเขาใช้ชื่อ Erikson Homburger ต่อมาเขาได้ใช้นามสกุลเดิมมาต่อท้ายชื่อจึงเป็น Erik H. Erikson
Erik H. Erikson ได้รับยกย่องเป็นศาสตราจารย์ในวิชาพัฒนาการมนุษย์จากมหาวิทยาลัย Harvard งานเขียนของเขาเป็นที่แพร่หลาย มีการนำไปแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ มากมาย ตัวอย่าง ปัญหาต่างๆ ที่ Erikson ยกมาประกอบในงานเขียนของเขาได้มาจากคนไข้ Erikson ถือว่าเป็นศิษย์ของ Freud ที่มีความเข้าใจในงานและความคิดของ Freud เขาได้นำจิตวิเคราะห์มาประยุกต์ในขั้นพัฒนาการต่างๆและได้รับยกย่องว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ มีความสามารถไม่ด้อยกว่า Freud
Erikson ได้เข้ามาร่วมงานและถือว่าเป็นศิษย์คนหนึ่งของ Freud ในการตั้งทฤษฎีเขาก็นำแนวคิดพื้นฐานมาจากทฤษฎีของ Freud แต่มีแบบแผนที่แตกต่างไปจาก Freud สำคัญๆ 3 เรื่อง คือ
1. ระบบโครงสร้างของบุคลิกภาพ ( ซึ่ง Freud เน้นการทำงานของ id พัฒนาการมนุษย์โดยใช้ขั้นพัฒนาการทางเพศภายใต้การทำงานของพลังเพศ) แต่ทฤษฎีของ Erikson เน้นการวิเคราะห์ ego ว่ามีความสำคัญเพราะเป็นพลังที่ทำให้มนุษย์เกิดพัฒนาการของชีวิต เช่น การเกิดพัฒนาการของมโนมติต่างๆ และความสามารถในการตีความหมาย การสร้างมโนภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ ego ยังทำให้เกิดระบบความคิดที่แสดงความเป็นปัจเจกบุคคลเขาเชื่อว่าการศึกษาพัฒนาการของชีวิตนับตั้งแต่เกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบุคคลนั้นด้วย ข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับพัฒนาการมนุษย์คือ ความสัมพันธ์และความต่อเนื่องของประสบการณ์กับการทำหน้าที่ของ ego และเพิ่มช่วงพัฒนาการที่ขาดหายไปเป็น 8 ขั้น
2. แบบพิมพ์ทางสังคม (social matrix) Erikson กล่าวว่า แบบพิมพ์ทางสังคม คือความสัมพันธ์ของบุคคลกับผู้เลี้ยงดูและบุคคลนอกครอบครัว ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมภายนอกของบุคคลด้วย
3. Erikson มุ่งความสนใจไปที่โอกาสที่บุคคลจะพัฒนาตนเองเพื่อความอยู่รอดของชีวิต เขาเห็นว่าทั้งบุคคลและสังคมต่างก็สามารถอยู่ร่วมกันและมีความต้องการที่จะเจริญก้าวหน้า
จากแนวความคิดที่แตกต่างไปจาก Freud ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า Erikson วางแนวทางใหม่ของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ซึ่งทำให้การนำไปใช้และการแปลความหมายพฤติกรรมกว้างขวางกว่าเดิมและสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ข้อตกลงเบื้องต้นของทฤษฎี ( Assumption Basic to Erikson’s Theory )
การสร้างทฤษฎีของ Erikson มีพื้นฐานมาจากแนวความคิดของ Freud ตามที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นข้อตกลงเบื้องต้นในทฤษฎีของเขาจึงมีรายละเอียดและแนวความคิดของ Freud และของเขาร่วมกัน
ข้อตกลงเบื้องต้นของทฤษฎี Erikson ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
1. วิธีการสร้างทฤษฎี (Approach to Theory Formation)
2. แบบแผนชีวิตมนุษย์ (Order of Human Life)
3. คุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ (Basic Human Values)
4. สาเหตุพฤติกรรมมนุษย์ (Etiology of Human Behavior)
5. แกนการทำหน้าที่ของมนุษย์ (Core of Human Functioning)
6. ทารกแรกเกิด (The Newborn)
7. สิ่งแวดล้อม (Environments) ได้แก่ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical) สังคม
(Social) วัฒนธรรม (Culture) และความคิด (Ideational) ดังจะอธิบายเป็นข้อๆ คือ
1. วิธีการสร้างทฤษฎี (Approach to Theory Formation)
Erikson ยอมรับในวิธีการและเทคนิคในการเก็บรวบรวมข้อมูลของทฤษฎีจิตวิเคราะห์โดยวิธีสังเกตเขาให้ความสนใจเป็นพิเศษกับความสำคัญของจิตไร้สำนึก (unconscious) และจิตก่อนสำนึก ( preconscious ) ซึ่งแสดงออกมาในรูปของคำพูดหรือจากพฤติกรรมที่แสดงออก แนวความคิดของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ในทัศนะของเขาคือ การทำความเข้าใจบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลซึ่งแสดงออกมาอย่างไม่รู้ตัวและเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตประจำวัน เขากล่าวว่ากระบวนการสำคัญของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ในการเข้าใจพัฒนาการของบุคคลคือการเข้าใจบุคลิกภาพที่เบี่ยงเบนออกไปจากปกติ ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักที่จะต้องพิจารณาเพื่อจะได้เข้าใจพัฒนาการของบุคลิกภาพปกติได้ชัดเจน Erikson ได้อธิบายเพิ่มเติมหลักสำคัญของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ให้กว้างขวางขึ้นโดยกล่าวว่าการวิเคราะห์เป็นรายบุคคลนั้นจ ะต้องพิจารณาบุคคลนั้นในกลุ่มสังคมและวัฒนธรรมของเขาด้วย Erikson ได้นำความรู้ทางจิตวิเคราะห์มาใช้ร่วมกับวิธีการทางสังคมวิทยา ส่วน Freud จะพิจารณาว่าบุคคลยึดตนเองเป็นศูนย์กลางในการกระทำหรือความรู้สึกนึกคิดต่างๆ โดยอิทธิพลของจิตไร้สำนึก (unconscious) Erikson ให้ความคิดเห็นในเรื่องการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางที่แตกต่างไปว่าการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางนั้น เป็นเรื่องการรู้สำนึก (conscious) ตัวอย่างเช่น การเล่นของเด็กแสดงถึงการยึดตัวเองของเด็กได้เป็นอย่างดี
Erikson กล่าวว่าไม่มีการสังเกตโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่จะนำมาใช้อย่างได้ผล โดยไม่มีทฤษฎีนำทางก่อน ดังนั้นการจะอธิบานถึงลักษณะของพัฒนาการด้านต่างๆ ได้จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีพัฒนาการต่างๆ ทั้งหมดก่อน Erikson ได้ตั้งทฤษฎีและใช้คนไข้ในคลีนิกของเขาเป็นกลุ่มตัวอย่าง เขาศึกษาคนไข้จากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติประกอบกับประวัติส่วนตัวโดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นจำนวนมากซึ่งผลจากการศึกษาได้พิสูจน์ทฤษฎีของเขาได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการศึกษาเพื่อพิสูจน์ทฤษฎี Erikson กล่าวว่าผู้ศึกษาจะต้องมีความมั่นใจในกลุ่มตัวอย่าง มีระยะเวลาในการศึกษานานพอ และมีเทคนิคในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง เขาให้ความสนใจความสำคัญในคุณภาพของข้อมูลมากกว่าวิธีการวัดต่างๆทฤษฎีของเขาจะเป็นไปตามลำดับ คือนำข้อมูลที่ได้จากการพิจารณาโดยใช้หลักเกณฑ์ทั่ว ๆ ไปมาประกอบกับความคิดเห็นของเขาแล้วพิจารณาคัดเลือกอีกครั้งเพื่อให้ตรงกับปัญหาที่ตั้งไว้ ซึ่งวิธีการนี้มีแนวความคิดไปทางเดียวกับจิตวิเคราะห์ของ Freud และ Erikson ได้นำความรู้ที่ได้จากวิธีการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เช่น การพิจารณาขั้นพัฒนาการต่างๆ ของเด็ก แต่เขาได้นำการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย
2. แบบแผนชีวิต (Order of Human Life)
Erikson กล่าวว่า “บุคลิกภาพกับความสมดุลกับของสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน” เขาให้ความคิดเห็นว่าการมองเห็นคุณค่าและคุณธรรมต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของการเจริญเติบโตและความต้องการที่จะพัฒนาตนเองซึ่งคุณค่าและคุณธรรมนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการฝึกหัดในวัยเด็ก ในความคิดของเขานั้นขอบข่ายพัฒนาการของมนุษย์ในแง่จิตวิทยามีการเปลี่ยนแปลงเหมือนๆ กับโครงสร้างทางชีวภาพทั้งจิตวิทยาและชีววิทยามีความสัมพันธ์ภายในกันมาก คือนับตั้งแต่คลอดเป็นต้นมา บุคคลจะมีการพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพควบคู่ไปกับคุณลักษณะทางด้านจิตใจตัวอย่างเช่นสิ่งแรกที่จะทำให้ทารกมีชีวิตอยู่รอดคือความสามารถในการใช้ปาก การย่อยอาหารและการขับถ่าย ดังนั้นพัฒนาการขั้นแรกคือการใช้ปากดูดเพื่อให้ชีวิตอยู่รอดและในขณะเดียวกัน การดูดก็ให้ความสุขแก่เด็กด้วย ในพัฒนาการแต่ละขั้นพบว่ามีพัฒนาการร่วมกันไปทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อคลอดออกมาแล้วอวัยวะต่างๆ ก็หยุดการสร้างเพิ่มขึ้นแต่จะพัฒนาอวัยวะแต่ละส่วนให้เจริญเติบโตต่อไปซึ่งการพัฒนานี้จะควบคู่กับพัฒนาการทางด้านจิตใจ ทำให้มีความสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดี Erikson กล่าวว่ากฎของความเจริญเติบโตทางร่างกาย ระยะเวลา และสิ่งแวดล้อม จะเข้ามาสัมพันธ์กันทุกครั้งที่มีความเจริญเติบโตเกิดขึ้น การพัฒนาบุคลิกภาพเป็นหน้าที่ของ ego และกระบวนการทางสังคม ความเจริญเติบโตทางร่างกาย จิตใจ และสังคม เป็นผลจากการทำงานร่วมกันของอินทรีย์ซึ่งประกอบด้วย ego และความตระหนักในการเป็นสมาชิกของสังคม ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้จะเข้ามาทำงานร่วมกันตลอดเวลา
3. คุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ (Basic Human Values)
คุณค่าพื้นฐานของมนุษย์ เขาเน้นถึงความสามารถสร้างสรรค์และความสามารถในการปรับตัวเขายอมรับในความสามารถของแต่ละคนที่สามารถฟันฝ่าชีวิตอยู่ได้ด้วยความสามารถและความเป็นตัวของตัวเอง Erikson ไม่ได้มองว่าคนดีหรือเลวแต่บุคคลมีศักยภาพที่จะทำในสิ่งที่ดีหรือเลวได้เท่าๆ กัน ส่วนความเชื่อในเรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้นเขากล่าวว่าบุคคลมีศักยภาพที่จะสร้างสรรค์สังคมทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมต่างๆ ทางด้านการปรับตัว เขากล่าวว่า มีพฤติกรรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่บุคคลไม่สามารถแก้ไขได้ แต่มีพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาเป็นจำนวนมากที่สามารถป้องกันไว้ก่อนได้
บุคคลจะมีคุณค่าเป็นที่รับรองจากบุคคลอื่นได้ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจและได้รับการยอมรับจากสังคม และในทำนองเดียวกันสังคมก็ต้องการบุคคลที่มีความคิดเห็นตรงกัน พึ่งพาอาศัยและยอมรับซึ่งกันและกัน คุณค่าพื้นฐานประการสุดท้ายคือบุคคลต้องมีความไว้วางใจและเคารพสถาบันของสังคม เช่น ศาสนา เป็นต้น
4. สาเหตุพฤติกรรมมนุษย์ (Etilology of Human Bahavior)
Erikson ยอมรับในแบบแผนพัฒนาการทางจิตเพศของ Freud (psychosexual) ซึ่งมีความเห็นว่าการที่บุคคลจะทำพฤติกรรมใดนั้น ก็เนื่องจากพลังที่เรียกว่าแรงขับซึ่งมีมาแต่กำเนิดจะเห็นว่าความคิดของเขาก็เป็นไปตามหลักทฤษฎีจิตวิเคราะห์ โดยถือว่าแรงขับนี้เกิดจากสัญชาตญาณ (instincts) และทำหน้าที่เป็นแรงจูงใจ แสดงออกมาร่วมกันเรียกว่าพลังเพศ (libido)
พลังเพศ (libido) แสดงออกเป็นพฤติกรรมสำคัญ 2 ลักษณะ คือ เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด
พลังนี้แสดงออกเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด โดยสนองความต้องการที่เกิดจากสัญชาตญาณของการมีชีวิตเพื่อให้บุคคลเจริญเติบโตต่อไป (life instincts) และ เพื่อการทำลาย แสดงออกโดยพฤติกรรมต่างๆ เช่น ความก้าวร้าว เป็นการแสดงออกของสัญชาตญาณความตาย (dead instincts) โดยการทำงานของจิตไร้สำนึก (unconscious) เป็นพฤติกรรมที่บุคคลต้องการจะกลับไปสู่ความมั่นคง ตัวอย่าง เช่น ชีวิตในวัยเด็กผู้ใหญ่มักหันกลับมามองว่าเป็นระยะเวลาแห่งการสุขสบาย ดังนั้นบางครั้งคนเราก็ต้องการมีความสุข จึงอาจมีพฤติกรรมถอยกลับไปสู่สภาพเดิมซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นสัญชาตญาณของความตาย
Eriksonยอมรับในพลังเพศ libido และถือว่าเป็นสิ่งกำหนดกรรมมนุษย์ พลังนี้ได้ทำงานออกมาในระบบ id ego และ superego การทำงานของ id และ superego จะขัดแย้งกันอยู่เสมอโดยมี ego เป็นตัวกลางที่จะประนีประนอมทั้ง 2 ระบบ
Ego ในทัศนะของเขาเป็นตัวตัดสินในการที่บุคคลจะแสดงพฤติกรรมใดๆ ออกมาโดยนำความรู้จากประสบการณ์มาร่วมพิจารณาด้วย ego จึงเป็นระบบที่แสดงคุณค่าของมนุษย์ ego ทำให้มนุษย์มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถในการปรับตัว
พลังเพศ (libido) จะมีผลต่อประสบการณ์การรับรู้ของชีวิตทั้ง 3 ระดับคือประสบการณ์สำนึก (conscious experience) ประสบการณ์ใกล้สำนึก (preconscious experience) และประสบการณ์ไร้สำนึก (unconscious experience) โดยประสบการณ์ 2 ตัวหลังมีอิทธิพลสำคัญต่อแรงจูงใจในการกระทำพฤติกรรมต่างๆ ของบุคคล พลังเพศจะแสดงออกอย่างเปิดเผยในจิตทั้ง 3 ระดับ โดยมีระบบการทำงานที่ควบคุมโดย ego ซึ่งเป็นระบบที่สัมผัสความจริงในชีวิตและเป็นตัวตัดสินว่าพฤติกรรมใดควรแสดงออก
5. แกนการทำหน้าที่ของมนุษย์ (Core of Human Functioning)
Erikson มีความคิดเห็นเช่นเดียวกับ Freud ว่าอารมณ์แทรกซึมอยู่ในการทำหน้าที่ทุกกระบวนการของมนุษย์ ธรรมชาติของอารมณ์พิจารณาได้จากคุณภาพความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น สภาพทางอารมณ์ต่างๆ ที่แสดงออกมาในรูปของความคิด การกระทำความรู้สึก ฯลฯ ขึ้นอยู่กับสภาพความสมดุลของการทำงานร่วมกันของ id ego และ superego
สำหรับช่วงพัฒนาการในวัยเด็ก การเล่นของเด็กถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ Erikson เห็นว่าการเล่นเป็นหน้าที่สำคัญของ ego ในระยะนี้ เพราะการเล่นประกอบด้วยกระบวนการ 3 อย่าง คือ การคิด การสื่อสาร และพฤติกรรม เช่น การคิด ขณะเล่นเด็กจะมีรูปแบบของการคิดและคำพูดการสื่อสาร เด็กมีการสื่อสารซึ่งกันและกัน โดยใช้ทั้งภาษา

0 Responses to "ทฤษฎีบุคลิกภาพของErikson หรือ ทฤษฎีจิตสังคม":

บทความที่ได้รับความนิยม