ชนิดของระบบเศรษฐกิจ
ระบบเศรษฐกิจ (Economic System) หมายถึง กลุ่มชนที่รวมกันเป็นกลุ่มสถาบันทางเศรษฐกิจ (Economic Institution) ที่มีแนวปฏิบัติคล้าย ๆ กันมาประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อบำบัดความต้องการของผู้บริโภค ในการศึกษาระบบเศรษฐกิจต้องอาศัยวิชาเศรษฐศาสตร์เข้าช่วย
เศรษฐศาสตร์ (Economics) หมายถึง ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความพอใจในความต้องการของมนุษย์ โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
คำถามพื้นฐาน 4 ประการ ที่ใช้ในการพิจารณาระบบเศรษฐกิจของประเทศ คือ
1. จะผลิตอะไร จำนวนเท่าไร
2. ผลิตอย่างไร
3. ผลิตเพื่อใคร
4. ใครเป็นเจ้าของและควบคุมปัจจัยหลักของการผลิต
ระบบเศรษฐกิจจะทำหน้าที่ตอบคำถาม พื้นฐานทั้ง 4 ประการ และจะเป็นตัวที่กำหนดการดำเนินการทาง เศรษฐกิจของสังคม โดยในปัจจุบันเราแบ่งระบบเศรษฐกิจออกเป็น 3 ระบบ คือ
1. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism)
2. ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผน ซึ่งประกอบด้วย ระบบสังคมนิยม (Socialism) และระบบคอมมิวนิสต์ (Communism)
3. ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)
ระบบทุนนิยม (Capitalism)
เป็นระบบเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้เอกชนมีเสรีภาพในการดำเนินการทาง เศรษฐกิจว่าจะผลิตอะไร ผลิตเท่าใด ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร โดยเอกชนจะมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ รวมทั้งมีกรรมสิทธิ์ในสินค้าและบริการที่ผลิตได้
ระบบนี้รัฐบาลจะไม่เข้าไปมีส่วนยุ่งเกี่ยวหรือควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถ้ามีก็มีน้อยที่สุด รัฐจะไม่แข่งขันกับเอกชน แต่เป็นผู้สนับสนุนเท่านั้น ทั้งนี้กลไกของตลาดจะเป็นตัวกำหนดของราคา กำไรเป็นสิ่งจูงใจสำคัญ นอกจากนี้สิ่งจูงใจที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การแข่งขันระหว่างกันอย่างเสรีทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น