วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555
แนวคิดหลักความรับผิดและตรวจสอบได้ในการจัดการเมือง
ในการจัดการเมืองซึ่งต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการแข่งขันระหว่างเมือง (inter-city competition) และความต้องการของประชาชน (public demand) มีเพิ่มขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้นทุกที ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องมีความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (good governance) ซึ่งส่งเสริมการจัดการที่มีคุณธรรม (integrity) ประสิทธิภาพ (efficiency) ประสิทธิผล (effectiveness) และ การประหยัด (economy) ให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของเมืองเพื่อการบรรลุเป้าหมายขององค์การ ซึ่งหลักความรับผิดและตรวจสอบได้ (accountability) เป็นลักษณะหนึ่งของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
หลักความรับผิดและตรวจสอบได้เป็นลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของ หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องมุ่งเน้นที่ผลงาน (results) มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่แน่ชัด มีการจัดทำยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิผล และมีการติดตามและรายงานผลการปฏิบัติงาน และจะทำให้หน่วยงานภาครัฐประสบความสำเร็จในการกำหนดนโยบายและการปฏิบัติตามนโยบาย ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรมีความสอดคล้องกัน เพราะหากปราศจากหลักความรับผิดและตรวจสอบได้นี้ ก็จะเกิดผลเสียต่าง ๆ โดยเฉพาะอาจมีการนำทรัพย์สินไปใช้อย่างทุจริต และมีความผิดพลาดในการจัดสรรทรัพยากรขององค์การ เป็นเหตุให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพ การสูญเปล่าและการทุจริต (United Nations Development Programme, 2001, pp. 1-2)
หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ หมายความว่า บุคคลและองค์การต่าง ๆ จะต้องมีความรับผิดชอบ (responsible) ต่อผลการปฏิบัติงาน ซึ่งควรวัดได้ในทางภาวะวิสัย (objectively) ซึ่ง UNDP แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (United Nations Development Programme, 2001, pp. 2-4)
1. หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ทางการเงิน (financial accountability) หมายถึง บุคคลมีภาระหน้าที่ (obligation) ในการจัดสรรทรัพยากรหรือหน่วยงานสาธารณะ หรือตำแหน่งหน้าที่ด้วยความน่าเชื่อถือ (trust) โดยมีการรายงานการใช้ทรัพยากรและการจัดการหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายด้วย รวมทั้งต้องทำให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการและขั้นตอนเพื่อบรรลุภาระหน้าที่ดังกล่าวด้วย
2. หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ทางการบริหาร (administrative accountability) หมายถึง การมีระบบที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดของการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเติมและเป็นหลักประกันของการทำหน้าที่อย่างถูกต้องของการตรวจสอบและถ่วงดุล โดยการมีหน่วยงานตรวจสอบและการตรวจสอบจากภาคประชาชน รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานและสิ่งจูงใจของระบบราชการ กฎเกณฑ์ทางจริยธรรม การลงโทษทางอาญา และการตรวจสอบทางปกครอง
3. หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ทางการเมือง (political accountability) หมายถึง ในระบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีกลไกในการลงโทษหรือให้รางวัลบุคคล ที่อยู่ในตำแหน่งที่ต้องได้รับความเชื่อถือจากสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงตำแหน่ง และการแยกหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเสนองบประมาณจากหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการใช้จ่ายงบประมาณจะเป็นหลักประกันต่อสาธารณะประโยชน์
Goetz and Jenkins (2002, pp 5-9) อธิบายว่า หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ (accountability) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับบุคคลที่ได้รับผลกระทบจาก การดำเนินการใด ๆ ของผู้มีอำนาจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น