วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ประการ ได้แก่

หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ประการ ได้แก่ 1. ความสามารถในการชี้แจง (answer-ability) ที่กำหนดให้ผู้มีอำนาจต้องสามารถอธิบายถึงการดำเนินการใด ๆ ของตนต่อสาธารณะได้ 2. การมีสภาพบังคับ (enforceability) คือ การมีบทลงโทษหรือมาตรการสำหรับการดำเนินการหรือปฏิบัติที่มีผลในระดับต่ำหรือการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย หลักความรับผิดและตรวจสอบได้จะเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ใน 2 มิติ คือ 1. ความสัมพันธ์ในมิติแนวตั้ง (vertical relationship) ระหว่างประชาชน (citizens) กับหน่วยงานภาครัฐในแบบทางการ (formal) เช่น ระบบการเลือกตั้งหรือแบบไม่เป็นทางการ (informal) เช่น การประสานงานหรือสมาคมต่าง ๆ เสนอเรื่องต่อหน่วยงาน 2. ความสัมพันธ์ในมิติแนวนอน (horizontal relationship) แสดงถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานภาครัฐผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาการดำเนินการใดของหน่วยงานรัฐอีกหน่วยหนึ่ง เช่น กรณีการตรวจสอบพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติต่อหน่วยงานฝ่ายบริหาร ในทำนองเดียวกับ UNDP ข้างต้นที่นำเสนอประเภทของหลักความรับผิดและตรวจสอบได้ไว้ซึ่ง Goetz and Jenkins เห็นว่า หลักความรับผิดและตรวจสอบได้แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ทางการเงิน (fiscal accountability) หมายถึง หลักความรับผิดชอบที่พิจารณาภายในขอบเขตของกิจกรรม (domain of activity) ที่มีการใช้ทรัพยากรสาธารณะ และระบบรายงานทางการเงินและการตรวจสอบบัญชี ซึ่งดำเนินการต่อหน่วยงานที่ใช้จ่ายเงิน 2. หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ทางการบริหาร (administrative accountability) หมายถึง ผู้มีบทบาทสำคัญในภาระหน้าที่ใดซึ่งถูกกำหนดให้ต้องมีความรับผิดชอบ ได้แก่ ข้าราชการในตำแหน่งต่าง ๆ ที่จะต้องมีหน้าที่ในการตอบชี้แจงต่อผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้ง และยึดถือระเบียบที่กำหนดให้ต้องมีการรายงานระหว่างผู้บังคับบัญชา 3. หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ทางกฎหมาย (legal accountability) หมายถึง มาตรฐานทั่วไป (common standard) ที่มีการบังคับใช้ทางอำนาจตุลาการที่จะเป็นหลักประกันว่า บรรดาข้าราชการจะไม่ใช้อำนาจหน้าที่เกินไปจากที่กฎหมายกำหนด หรือใช้อำนาจหน้าที่เบี่ยงเบนไปจากภาระหน้าที่ที่มีต่อประชาชน Irazábal (2005, p. 40) เสนอว่า หลักความรับผิดและตรวจสอบได้เป็นพื้นฐานของการจัดการเมือง โดยมีลักษณะ ดังนี้ 1. หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ทางการเมือง (political accountability) หมายถึง ระบบความรับผิดชอบทางการเมือง เมื่อผู้นำทางการเมืองอยู่ภายใต้ระบบการเลือกตั้งที่เชื่อถือได้ และมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งที่จำกัด 2. หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ทางกฎหมาย (legal accountability) หมายถึง การมีระบบตุลาการที่มีความเที่ยงธรรมและเป็นภาวะวิสัยรวมไปถึงการมีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีความน่าเชื่อถือ และการบริหารงานศาลยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ 3. หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ทางราชการ (bureaucratic accountability) หมายถึง การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิผล โดยหน่วยงานภาครัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับประชาชน สำหรับ Shotton and Winter (2006, pp. 121-123) เสนอว่า หลักความรับผิดและตรวจสอบได้เป็นหัวใจหลักของการปรับปรุงการให้บริการสาธารณะของหน่วยบริหารงานท้องถิ่น โดยการทำให้เกิดการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารในลักษณะของการสื่อสารอย่างยั่งยืน (sustainable communication) ที่เกี่ยวกับการดำเนินการและการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของหน่วยบริหารงานท้องถิ่น เพื่อชี้แจงแก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของท้องถิ่นและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงานและกระบวนการทางการเมือง ส่วนหน่วยงานของรัฐบาลและของท้องถิ่นในระดับบนก็ต้องรับผิดชอบ (accountable) ต่อหน่วยงานในระดับที่ต่ำกว่าของหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งข้อมูลข่าวสารจะเป็นปัจจัยสำคัญของหลักความรับผิดชอบนี้ และต้องทำให้แน่ใจว่า ผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ (key stakeholders) ในระบบบริหารกิจการท้องถิ่น (local governance) จะได้รับข้อมูลข่าวสารและมีบทบาทในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารของตนอย่างเพียงพอด้วย โดยได้แบ่งหลักความรับผิดและตรวจสอบได้ออกตามลักษณะของลำดับชั้นของความรับผิดได้เป็น 3 ลักษณะ คือ 1. หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ในแนวจากบนลงล่าง (downward account-ability) หมายถึง หลักความรับผิดของผู้บริหารหน่วยงานท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ที่จะต้องรับผิดชอบต่อประชาชน (citizens) ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (voters) และสมาชิกของชุมชน (community) ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของตน โดยมีปัจจัยเกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.1 การมีกฎหมายกำหนดหลักความรับผิดชอบไว้เป็นการทั่วไป 1.2 พื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กมักจะส่งผลให้ผู้บริหารทางการเมืองของท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่ากรณีที่มีพื้นที่รับผิดชอบขนาดใหญ่ 1.3 หากบทบาทของหน่วยบริหารงานท้องถิ่นและบทบาทของผู้แทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งกำหนดไว้อย่างชัดเจน และเป็นที่ทราบดีต่อสาธารณะจะส่งผลให้เกิดกระแสความต้องการของหลักความรับผิดและตรวจสอบได้มากขึ้น 1.4 ความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมในท้องถิ่น (local civil society) ที่มี การพัฒนามากขึ้นจะเป็นภาวะกดดันให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น 2. หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ในแนวราบ (horizontal accountability) หมายถึง ความรับผิดชอบของข้าราชการประจำ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูง ที่มีต่อผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งของหน่วยบริหารท้องถิ่นดังกล่าว โดยมีข้อสังเกตว่า ข้าราชการประจำระดับสูงค่อนข้างจะแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริหารทางการเมืองมากกว่าจะมีต่อสาธารณะโดยตรง 3. หลักความรับผิดและตรวจสอบได้ในแนวจากล่างสู่บน (upward accountability) หมายถึง ความรับผิดชอบที่หน่วยงานบริหารท้องถิ่นมีต่อรัฐบาลกลาง (central government) ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีข้อมูลข่าวสารที่จะตรวจสอบว่าหน่วยงานท้องถิ่นแห่งนั้นปฏิบัติตามนโยบายหลัก รวมถึงการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่าย รวมถึงการกำกับดูแลให้หน่วยงานท้องถิ่นนั้นปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง ในกรอบของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานท้องถิ่นจะต้องส่งผ่านข้อมูลข่าวสารให้รัฐบาลโดยถูกต้องและทันการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น