เงินตึงตัว คือ สถานการณ์ที่มีปริมาณเงินหมุนเวียนในท้องตลาดน้อยมาก ในขณะที่มีความต้องการเงินกู้ยืมสูง ในสถานการณ์เช่นนี้ อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการขยายตัวของการลงทุนและการผลิตกลับลดต่ำลง เป็นสภาพที่เงินหายาก เงินที่มีอยู่ในตลาดมีน้อยไม่พอกับความต้องการของประชาชน ภาวะเงินตึงในระบบธนาคารพาณิชย์ นับว่าเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้น ในปี 2522 ซึ่งแท้จริงแล้วเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ปี 2521 ดังจะเห็นได้จากอัตราส่วนระหว่างเงินให้กู้ยืม กับเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในปี 2521 อยู่ในเกณฑ์สูงสุดในประวัติศาสตร์การเงินไทย กระทั่งก่อให้เกิดปัญหาภาวะเงินตึงที่ร้ายแรงในปี 2522
สาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะเงินตึงตัว สามารถแบ่งได้เป็น 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ
1. ด้านอุปทาน ประกอบด้วย
1.1 การลดลงของอัตราการออม (saving ratio) โดยอัตราส่วนระหว่างการออมกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง ซึ่งทำให้ปริมาณเงินออมเข้าสู่ตลาดการเงินทั้งในระบบและนอกระบบ เพิ่มขึ้นในอัตราลดลงก่อให้เกิดปัญหาภาวะเงินตึงตัวในระบบ เนื่องจากการปริมาณเงินที่จัดสรรให้กู้แก่ธุรกิจเอกชนมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้การที่อัตราการออมมีแนวโน้มลดลงก็เป็นเพราะปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา โดยในช่วงปี 2515-2521อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีการคาดกันว่าปัญหาเงินเฟ้อยังคงมีต่อไปรายจ่ายในการบริโภคก็จะเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้กระทั่งทำให้อัตราการออมมีแนวโน้มลดลง
1.2 การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ในอัตราที่ลดลง สืบเนื่องจากอัตราส่วนระหว่างการออมกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว เงินออมโดยสมัครใจของประชาชนส่วนที่เคลื่อนสู่ตลาดการเงินจึงมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ด้วย นอกจากนี้การเกิดปัญหาเงินเฟ้อในช่วงปี 2520-2522 ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมีค่าติดลบติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้การเคลื่อนย้ายเงินออมออกสู่ตลาดเงินนอกระบบมากขึ้น
1.3 การเพิ่มขึ้นของการออมที่ถูกบังคับ (forced savings) ซึ่งได้แก่ ภาษีอากรที่รัฐบาลเรียกเก็บจากประชาชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนับแต่ปี 2519 เป็นต้นมา สืบเนื่องมาจากการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐบาลทำให้มีการเร่งรัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ กรณีดังกล่าวมีส่วนทำให้เงินออมโดยสมัครใจของประชาชนลดน้อยลง ส่งผลให้เงินออมส่วนที่เคลื่อนย้ายสู่ตลาดการเงิน ทั้งในระบบและนอกระบบลดลงกว่าที่ควรจะเป็น
1.4 การลักลอบนำเงินออกประเทศ สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในอินโดจีนตั้งแต่ปี 2522 ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทย ทำให้มีการนำเงินออกนอกประเทศในรูปแบบต่าง ๆ มากเป็นเหตุให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบมีน้อยกว่าที่ควร
1.5 การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ การที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศก่อให้เกิดเงินทุนไหลออก เพื่อหาประโยชน์จากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศ นอกจากนี้ทางด้านสถาบันการเงินภายในประเทศ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ซึ่งนิยมกู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนค่อนข้างสูง เพื่อนำมาจัดสรรให้กู้แก่เอกชนภายในประเทศก็ชะลอการกู้ลง กรณีดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจไทย
1.6 วิกฤตการณ์ราชาเงินทุน ซึ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินจึงหันไปถือเงินออมในรูปของสินทรัพย์ถาวร และหรือ เพิ่มการใช้จ่ายในการบริโภคมากขึ้นรวมทั้งโยกย้ายเงินออมจากตลาดเงินในระบบไปสู่ตลาดการเงินนอกระบบ
2. ด้านอุปสงค์ ประกอบด้วย
2.1 ภาวะเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การที่ระบบเศรษฐกิจต้องประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะนับแต่ปี 2520 เป็นต้นมานั้น ย่อมทำให้รายจ่ายในการอุปโภคบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้น และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีกหากประชาชนคาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อจะมีมากยิ่งขึ้นในอนาคต ขณะที่ระดับการผลิตในภาคเกษตรกรรมถูกกำหนดโดยปัจจัยทางด้านอุปทาน แต่ระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมถูกกำหนดโดยปัจจัยทางด้านอุปสงค์ ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ ประกอบกับแรงกดดันของอุปสงค์จากต่างประเทศได้มีผลให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ซึ่งการเพิ่มของอุปสงค์ในการอุปโภคบริโภคและการขยายการผลิตในภาคอุตสาหกรรมล้วนมีผลให้อุปสงค์ในการใช้เงินเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง
2.2 การกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไร โดยปกติในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ย่อมเป็นสิ่งจูงใจให้พ่อค้านายทุนกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไรซึ่งเป็นผลให้อุปสงค์ในการใช้เงินมีมากขึ้น
2.3 การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ดังกล่าวในข้อ 1.5 นั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีน้อยกว่าที่ควรเท่านั้น แต่ยังมีผลให้อุปสงค์ในการใช้เงินในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรอีกด้วย เพราะธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เคยอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินในต่างประเทศต่ำกว่าภายในประเทศก็จะหันมากู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ ทำให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในประเทศลดน้อยลง
ส่วนการแก้ไขภาวะเงินตึงตัวมีดังนี้
1. การเปิดตลาดซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล เพื่อช่วยถ่ายเทเงินสดจากธนาคารพาณิชย์ที่มีเงินสดสำรองส่วนเกินมากไปสู่ธนาคารที่มีปัญหาสภาพคล่อง
2. การยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินกู้จากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยผ่อนคลายปัญหาภาวะเงินตึง
3. การลดอัตราส่วนระหว่างเงินสดสำรองกับยอดเงินฝาก เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถขยายสินเชื่อได้มากขึ้น
4. การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์
5. การแก้ปัญหาสภาพคล่องของบริษัทเงินทุน
6. การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
7. ยกเลิกการควบคุมอัตราดอกเบี้ยสูงสุด
ภาวะทางการเงิน ทั้งสามนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในการครองชีพของทุกคน ถ้าเราได้ทำความเข้าใจไว้ก็จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนดำเนินชีวิตของเราในเรื่องค่าใช้จ่ายต่อไป
การจัดการความรู้ หรือ KM : Knowledge Management
-
*การจัดการความรู้ หรือ KM : Knowledge Management* คือ
การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร
ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ
เพ...
4 ปีที่ผ่านมา
0 Responses to "เงินตึงตัว (tight money)":
แสดงความคิดเห็น