เงินฝืด หมายถึง สถานการณ์ตรงข้ามกับเงินเฟ้อ นั่นคือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปลดลงเรื่อย ๆ นี่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าทุกชนิดจะต้องลงราคาและในสัดส่วนเดียวกัน อาจเป็นไปได้ว่าสินค้าบางชนิดมีราคาสูงขึ้น แต่เมื่อรวมราคาสินค้าทุกชนิดแล้ว คือราคาถัวเฉลี่ยจะลดลงจากเดิม
ประเภทเงินฝืด แบ่งเป็น
1. เงินฝืดอย่างอ่อน เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ราคาสินค้าในตลาดทั่วไปจะลดลงเล็กน้อย
2. เงินฝืดอย่างปานกลาง มีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจแต่ไม่รุนแรง ระดับราคาสินค้าทั่วไปในตลาดจะลดลงมากกว่าเงินฝืดอย่างอ่อน
3. เงินฝืดอย่างรุนแรง
สาเหตุของภาวะเงินฝืด
1. ธนาคารกลางพิมพ์ธนบัตรออกมาหมุนเวียนในตลาดน้อยเกินไป แต่อุปสงค์มีมาก
2. ประชาชนนิยมเก็บเงินไว้กับตัวมากเกินไป
3. การส่งเงินตราออกนอกประเทศมากเกินไป
4. นโยบายธนาคารกลางออกกฎหมายเรียกเก็บเงินสำรองตามกฎหมายจากธนาคารพาณิชย์มากเกินไป จนไม่มีเงินที่จะสร้างเงินฝากหรือขยายเครดิต
5. นโยบายของธนาคารพาณิชย์ไม่ขยายเครดิต ให้กู้ยืมสำหรับการลงทุนทั้งระยะสั้น ระยะยาว
6. รัฐบาลควบคุมการซื้อสินค้าเงินผ่อน
7. รัฐบาลเปลี่ยนแปลงเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น ทำให้รายได้ประชาชนลดลง เงินใช้สอยลดลง
8. อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศค่อนข้างสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ประสบปัญหาในการกู้ยืมมาขยายเครดิต จำเป็นต้องกู้ยืมจากธนาคารกลาง
9. เงินฝืดมักจะเป็นผลพวงมาจากภาวะฟองสบู่แตก ทำให้เกิดปัญหาเกิดหนี้เสีย และความเชื่อมั่นต่อการลงทุนลดน้อยลง ทำให้ภาคการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินค้าเชื่อมากขึ้น
ผลกระทบของภาวะเงินฝืด กลุ่มผู้ได้ประโยชน์จากภาวะเงินฝืดได้แก่
1. ผู้มีรายได้ประจำ เช่น พนักงานเงินเดือน ข้าราชการเกษียณได้รับบำนาญ
2. ผู้ที่มีรายได้จากดอกเบี้ย หุ้นกู้ ผู้ถือหุ้น ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้
3. ผู้ที่เก็บเงินไว้กับตัวเอง
4. ผู้มีรายได้จากค่าเช่า ผู้เช่าก็ต้องจ่ายในราคาเท่าเดิม เพราะได้ทำสัญญาผูกมัดแล้ว
กลุ่มผู้เสียประโยชน์จากภาวะเงินฝืด ได้แก่
1. เจ้าของกิจการ นายจ้าง ผู้ผลิตสินค้า นักอุตสาหกรรม เมื่อระดับราคาสินค้าที่ผลิตออกมามีราคาลดต่ำลงเรื่อย ๆ แต่ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนในการผลิตสูง ผู้ผลิตจะไม่ทำการผลิตอีกต่อไป หรืออาจจะลดการผลิตออกมาให้น้อยลง
2. พ่อค้า นักธุรกิจ เมื่อการผลิตชะลอตัวลง และหยุดชะงักการผลิต พ่อค้า นักธุรกิจ ก็ต้องขาดรายได้ คือ กำไร ตามไปด้วย
3. ลูกหนี้ ขณะที่ทำสัญญาขอกู้ยืมเงินมูลค่าของเงินคงที่ แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืด มูลค่าของเงินมีค่ามากขึ้น และการทำมาหากินฝืดเคือง รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เงินหายากขึ้น แต่ต้องชำระหนี้ในมูลค่าเท่าเดิม
4. ผู้เช่า เมื่อการผลิตชะลอตัวลง และลดต่ำลงเรื่อย ๆ ราคาสินค้าก็ลดลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รายได้ที่รับเข้ามาก็ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ผู้เช่าก็ต้องจ่ายเงินให้กับผู้ให้เช่าในราคาเท่าเดิม ไม่ได้ลดไปตามราคาสินค้า
5. ผู้รับค่าจ้างรายวัน
6. ผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่สามารถกำหนดได้ว่าแต่ละวันจะมีรายได้เท่าไร บางวันมีรายได้น้อยบางวันมีรายได้มาก และบางวันไม่มีรายได้เลย เช่น ผู้ที่รับจ้างทั่ว ๆ ไปไม่มีหลักแหล่ง
การแก้ไขภาวะเงินฝืด
1.ใช้นโยบายทางการเงิน ได้แก่
1.1 ธนาคารกลางจะต้องพิมพ์ธนบัตรออก มาหมุนเวียนในตลาดให้สอดคล้องกับปริมาณของอุปสงค์และอุปทาน
1.2 ธนาคารจะต้องลดอัตราเงินสดสำรองตามกฏหมายแก่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อที่จะทำให้มีการขยายเครดิตเพิ่มขึ้น
1.3 ประกาศควบคุมกำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าประเภทจำเป็น เช่น ข้าว เนื้อสัตว์น้ำมัน การขนส่ง ฯลฯ
2.ใช้นโยบายทางการคลัง ได้แก่
2.1 รัฐบาลจะต้องกระจายรายได้ไปสู่ชนบท ทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการลงทุนให้ชนบท เช่น จัดให้มีโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ใช้งบประมาณปีละ 3,500 ล้านบาท ส่งผลให้ประชาชนในชนบทมีงานทำมากเพิ่มขึ้นมีแหล่งน้ำ มีถนน ทำให้เพิ่มผลผลิตตามไปด้วย
2.2 งบประมาณรายจ่ายรายจ่ายของรัฐบาลจะต้องจ่ายให้มีสภาพคล่องตัวยิ่งขึ้น จะทำให้เงินหมุนเวียนในตลาดรวดเร็วขึ้น เช่น รัฐบาลจ้างทำของ (ถนน เขื่อนกั้นน้ำ ชลประทาน ฯลฯ) สั่งซื้อสินค้า เมื่อธุรกิจได้รับเงินของทางรัฐบาล จะทำให้เกิดการสร้างงานต่อไป
2.3 ขอกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ ดอกเบี้ยถูกจ่ายคืนในระยะยาว มาลงทุนในโครงการที่ช่วยพัฒนาประเทศและสามารถให้ผลประโยชน์ตอบแทนได้
2.4 ประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศมาลงทุน โดยมีระยะปลอดภาษีและให้ความสะดวกทุกประการ
2.5 ลดอัตราภาษีของรายได้บุคคลของประชาชน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น การใช้จ่ายก็มีมากขึ้นตามลำดับ
2.6 ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ นำขึ้นมาใช้ เช่น แก๊สธรรมชาติ เท่ากับเป็นการสร้างงาน ทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวทำให้ภาวะเงินฝืดเบาบางลง
2.7 ส่งเสริมผลผลิตทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรมออกสู่ต่างประเทศ โดยใช้การตลาดเป็นแกนนำ ทำให้เงินตราไหลเข้าสู่ประเทศมากขึ้น
เงินฝืด (deflation)
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
เงินเฟ้อ (inflation)
เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ (rising prices) => ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) "เงินเฟ้อที่ถูกกดดัน" (suppressed inflation) เป็นเงินเฟ้อที่มักจะพบบ่อยในเวลาเกิดสงคราม หรือเกิดขาดแคลนสินค้าอย่างรุนแรง
ประเภทของอัตราเงินเฟ้อ
ตามหลักวิชาการจะแบ่งอัตราเงินเฟ้อเป็น 3 ประเภท คือ
1. เงินเฟ้ออย่างอ่อน คือ อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติและไม่มีผลเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทางด้านการลงทุน การผลิต การจ้างงาน และรายได้ประชาชาติ
2. เงินเฟ้อปานกลาง คือ อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเกินร้อยละ 5 ~ 20 % รัฐบาลจะยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไขโดยใช้มาตรการทางการเงินและการคลัง
3. เงินเฟ้ออย่างรุนแรง คือ การที่ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นไปอย่างกว้างขวางโดยระดับราคาจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 20 % ต่อปี ทำให้อำนาจการซื้อของเงินลดลงอย่างรวดเร็วมาก อย่างเช่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเยอรมัน จีนและประเทศไทย ได้พิมพ์ธนบัตรออกใช้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด จึงเกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรง
สาเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ มาจากการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์มวลรวม (aggregate demand) และอุปทานมวลรวม (aggregate supply) ซึ่งพอจะจำแนกได้ 3 ประการใหญ่ ๆ ดังนี้
1. เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น (demand pull inflation)
2. เงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนสูงขึ้น (cost-push inflation)
3. เงินเฟ้อที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้าง (structural inflation)
1. เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น (demand pull inflation) คือการปริมาณสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงพอตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นในอุปสงค์มวลรวม
สาเหตุที่ทำให้อุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น
1.1 การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนการผลิตสินค้าไม่ทันกับความต้องการ
1.2 การใช้จ่ายของภาครัฐบาลเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
1.3 การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น
1.4 ความต้องการสินค้าจากประเทศของเราของชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์มวลรวมต่อสินค้าและบริการทุกชนิดได้มีผลทำให้ระดับราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็จริง แต่การสูงขึ้นของราคาดังกล่าวเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตทำการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อหวังจะได้กำไรเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามมาในเวลาต่อมา และช่วยบรรเทาการสูงขึ้นของระดับราคาไม่ให้มากนักได้
2. เงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนสูงขึ้น (cost-push inflation)
สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ประการคือ
1.1 การเรียกร้องค่าจ้างแรงงานเพิ่มของปัจจัยแรงงาน (wage-push inflation)
1.2 เงินเฟ้อที่เกิดจากการเพิ่มกำไรของผู้ผลิต
1.3 เงินเฟ้อที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง(structural inflation)
กรณีที่ประเทศเกิดภาวะสงคราม ทำให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายเงินในการสงครามและจำกัดขอบเขตการบริโภคของประชาชนทั่วไป เพื่อนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้การผลิตอาวุธ ในช่วงสงคราม
ผลกระทบของเงินเฟ้อ
1. ผลต่อความต้องการถือเงิน ภาวะเงินเฟ้อจะทำให้ค่าของเงินลดลง เพราะเมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น เงินเท่าเดิมจะซื้อของได้น้อยลง
2. ผลกระทบต่อรัฐบาล รัฐบาลมักจะได้รับประโยชน์จากภาวะเงินเฟ้อ นั่นคือ ภาวะเงินเฟ้อจะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เป็นตัวเงินเพิ่มสูงขึ้น ถ้ารัฐเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ส่วนทางด้านรายจ่ายของรัฐนั้นถ้าเป็นจำนวนที่คงที่ เช่น เงินเดือน บำนาญ เงินสงเคราะห์ต่าง ๆ รัฐก็จะได้ประโยชน์เพราะเงินนั้นมีค่าน้อยลง
3. ผลที่มีต่อการกระจายรายได้ เมื่อเกิดเงินเฟ้อจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในการกระจายรายได้ของบุคคล เช่น
1) ผู้มีรายได้เป็นจำนวนเงินคงที่ตายตัวหรือรายได้ประจำจะเสียเปรียบ เพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะสูงขึ้น เนื่องจากสินค้าแพงขึ้น แต่รายได้ที่เป็นตัวเงินยังคง
2) ลูกหนี้จะได้เปรียบในขณะที่เจ้าหนี้
3) ผู้ถือทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินแน่นอน เช่น เงินสด เงินฝากประจำ หุ้นกู้ พันธบัตรจะเสียเปรียบ เพราะเงินลดค่าลง
การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ทำได้โดยดูว่าภาวะเงินเฟ้อเกิดจากสาเหตุใด
ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น ทำได้โดยลดอุปสงค์มวลรวมโดย
1. ลดค่าใช้จ่ายการบริโภคส่วนบุคคล (consumption expenditure)
2. ใช้นโยบายทางการเงินโดยภาครัฐ กล่าวคือ ลดปริมาณเงินโดยการออกพันธบัตร เพื่อชักจูงให้ประชาชนหันมาสนใจออมเงินมากกว่าที่จะใช้จ่ายเงิน
3. ใช้นโยบายการคลังโดยภาครัฐ กล่าวคือใช้มาตรการทางด้านภาษี การเก็บภาษีมากขึ้นจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดน้อยลงและรัฐบาลจะต้องลดค่าใช้จ่ายลง
4. ลดค่าใช้จ่ายการลงทุน (investment expenditure)
5. การควบคุมระดับราคาโดยตรง (price control) โดยภาครัฐบาลกำหนดราคาสินค้าและบริการไว้แน่นอน
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
เงินตึงตัว (tight money)
เงินตึงตัว คือ สถานการณ์ที่มีปริมาณเงินหมุนเวียนในท้องตลาดน้อยมาก ในขณะที่มีความต้องการเงินกู้ยืมสูง ในสถานการณ์เช่นนี้ อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการขยายตัวของการลงทุนและการผลิตกลับลดต่ำลง เป็นสภาพที่เงินหายาก เงินที่มีอยู่ในตลาดมีน้อยไม่พอกับความต้องการของประชาชน ภาวะเงินตึงในระบบธนาคารพาณิชย์ นับว่าเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้น ในปี 2522 ซึ่งแท้จริงแล้วเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ปี 2521 ดังจะเห็นได้จากอัตราส่วนระหว่างเงินให้กู้ยืม กับเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในปี 2521 อยู่ในเกณฑ์สูงสุดในประวัติศาสตร์การเงินไทย กระทั่งก่อให้เกิดปัญหาภาวะเงินตึงที่ร้ายแรงในปี 2522
สาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะเงินตึงตัว สามารถแบ่งได้เป็น 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ
1. ด้านอุปทาน ประกอบด้วย
1.1 การลดลงของอัตราการออม (saving ratio) โดยอัตราส่วนระหว่างการออมกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง ซึ่งทำให้ปริมาณเงินออมเข้าสู่ตลาดการเงินทั้งในระบบและนอกระบบ เพิ่มขึ้นในอัตราลดลงก่อให้เกิดปัญหาภาวะเงินตึงตัวในระบบ เนื่องจากการปริมาณเงินที่จัดสรรให้กู้แก่ธุรกิจเอกชนมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้การที่อัตราการออมมีแนวโน้มลดลงก็เป็นเพราะปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา โดยในช่วงปี 2515-2521อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีการคาดกันว่าปัญหาเงินเฟ้อยังคงมีต่อไปรายจ่ายในการบริโภคก็จะเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้กระทั่งทำให้อัตราการออมมีแนวโน้มลดลง
1.2 การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ในอัตราที่ลดลง สืบเนื่องจากอัตราส่วนระหว่างการออมกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว เงินออมโดยสมัครใจของประชาชนส่วนที่เคลื่อนสู่ตลาดการเงินจึงมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ด้วย นอกจากนี้การเกิดปัญหาเงินเฟ้อในช่วงปี 2520-2522 ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมีค่าติดลบติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้การเคลื่อนย้ายเงินออมออกสู่ตลาดเงินนอกระบบมากขึ้น
1.3 การเพิ่มขึ้นของการออมที่ถูกบังคับ (forced savings) ซึ่งได้แก่ ภาษีอากรที่รัฐบาลเรียกเก็บจากประชาชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนับแต่ปี 2519 เป็นต้นมา สืบเนื่องมาจากการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐบาลทำให้มีการเร่งรัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ กรณีดังกล่าวมีส่วนทำให้เงินออมโดยสมัครใจของประชาชนลดน้อยลง ส่งผลให้เงินออมส่วนที่เคลื่อนย้ายสู่ตลาดการเงิน ทั้งในระบบและนอกระบบลดลงกว่าที่ควรจะเป็น
1.4 การลักลอบนำเงินออกประเทศ สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในอินโดจีนตั้งแต่ปี 2522 ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทย ทำให้มีการนำเงินออกนอกประเทศในรูปแบบต่าง ๆ มากเป็นเหตุให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบมีน้อยกว่าที่ควร
1.5 การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ การที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศก่อให้เกิดเงินทุนไหลออก เพื่อหาประโยชน์จากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศ นอกจากนี้ทางด้านสถาบันการเงินภายในประเทศ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ซึ่งนิยมกู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนค่อนข้างสูง เพื่อนำมาจัดสรรให้กู้แก่เอกชนภายในประเทศก็ชะลอการกู้ลง กรณีดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจไทย
1.6 วิกฤตการณ์ราชาเงินทุน ซึ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินจึงหันไปถือเงินออมในรูปของสินทรัพย์ถาวร และหรือ เพิ่มการใช้จ่ายในการบริโภคมากขึ้นรวมทั้งโยกย้ายเงินออมจากตลาดเงินในระบบไปสู่ตลาดการเงินนอกระบบ
2. ด้านอุปสงค์ ประกอบด้วย
2.1 ภาวะเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การที่ระบบเศรษฐกิจต้องประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะนับแต่ปี 2520 เป็นต้นมานั้น ย่อมทำให้รายจ่ายในการอุปโภคบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้น และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีกหากประชาชนคาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อจะมีมากยิ่งขึ้นในอนาคต ขณะที่ระดับการผลิตในภาคเกษตรกรรมถูกกำหนดโดยปัจจัยทางด้านอุปทาน แต่ระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมถูกกำหนดโดยปัจจัยทางด้านอุปสงค์ ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ ประกอบกับแรงกดดันของอุปสงค์จากต่างประเทศได้มีผลให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ซึ่งการเพิ่มของอุปสงค์ในการอุปโภคบริโภคและการขยายการผลิตในภาคอุตสาหกรรมล้วนมีผลให้อุปสงค์ในการใช้เงินเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง
2.2 การกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไร โดยปกติในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ย่อมเป็นสิ่งจูงใจให้พ่อค้านายทุนกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไรซึ่งเป็นผลให้อุปสงค์ในการใช้เงินมีมากขึ้น
2.3 การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ดังกล่าวในข้อ 1.5 นั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีน้อยกว่าที่ควรเท่านั้น แต่ยังมีผลให้อุปสงค์ในการใช้เงินในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรอีกด้วย เพราะธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เคยอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินในต่างประเทศต่ำกว่าภายในประเทศก็จะหันมากู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ ทำให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในประเทศลดน้อยลง
ส่วนการแก้ไขภาวะเงินตึงตัวมีดังนี้
1. การเปิดตลาดซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล เพื่อช่วยถ่ายเทเงินสดจากธนาคารพาณิชย์ที่มีเงินสดสำรองส่วนเกินมากไปสู่ธนาคารที่มีปัญหาสภาพคล่อง
2. การยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินกู้จากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยผ่อนคลายปัญหาภาวะเงินตึง
3. การลดอัตราส่วนระหว่างเงินสดสำรองกับยอดเงินฝาก เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถขยายสินเชื่อได้มากขึ้น
4. การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์
5. การแก้ปัญหาสภาพคล่องของบริษัทเงินทุน
6. การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
7. ยกเลิกการควบคุมอัตราดอกเบี้ยสูงสุด
ภาวะทางการเงิน ทั้งสามนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในการครองชีพของทุกคน ถ้าเราได้ทำความเข้าใจไว้ก็จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนดำเนินชีวิตของเราในเรื่องค่าใช้จ่ายต่อไป
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
ผลตอบแทนและความเสี่ยง
ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้อาจจะไม่สูงมากหรือหวือหวา โดยขึ้นอยู่กับประเภทตราสารหนี้ที่ไปลงทุน สำหรับความเสี่ยงของกองทุนรวมตราสารหนี้ย่อมต่ำกว่ากองทุนรวมตราสารทุน โดยกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายลงทุนแตกต่างกันก็จะมีระดับความเสี่ยงต่างกันด้วย ซึ่งความเสี่ยงสำคัญ ๆ ของกองทุนรวมตราสารหนี้มีดังนี้
1. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในตลาด (interest rate risk) ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา รวมทั้งผลตอบแทนจากตราสารหนี้ โดยเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ราคาตราสารหนี้ที่อยู่ในกองทุนจะปรับตัวลดลง ซึ่งเมื่อคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทุกสิ้นวันแล้ว กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ก็จะมี NAV ลดลง
ดังนั้น หากผู้ลงทุนที่ไม่อยากรับความเสี่ยงในเรื่องนี้มากเกินไป ก็อาจพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้แบบกองปิด ซึ่งมีกลยุทธ์การลงทุนเพียงครั้งเดียวแล้วถือจนครบอายุตราสาร (buy and hold) หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือสั้น ๆ เพราะมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดไม่มากนัก
2. ความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ที่ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขหรือข้อผูกผันที่มีอยู่ (credit risk) เช่น ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้ตามจำนวนเงินหรือตามเวลาที่กำหนด (หุ้นกู้ default) อย่างไรก็ดี ตามเกณฑ์ ก.ล.ต. กองทุนรวมตราสารหนี้จะสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุน (non-investment grade) หรือที่เรียกกันว่า junk bond ได้ไม่เกิน 15% ของ NAV เพื่อเป็นการจำกัดความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับหนึ่งสำหรับกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่รัฐบาลออก อาจถือได้ว่าความเสี่ยงด้านเครดิตน้อยมาก แต่ก็อย่าลืมว่ากองทุนรวมพันธบัตรนั้นยังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสาร จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดอยู่
3. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) คือการที่ผู้ลงทุนอาจไม่สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมได้ตามที่ต้องการ หากลงทุนในกองทุนปิด หรือกองทุนเปิดที่เปิดให้ซื้อขายได้บางเวลา เช่น เพียงเดือนละครั้ง ดังนั้น ผู้ลงทุนที่ต้องการสภาพคล่องสูงก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ที่เปิดให้ซื้อขายได้ทุก ๆ วัน เพราะกองทุนรวมประเภทนี้จะมีการเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนอยู่แล้ว
4. ความเสี่ยงอื่น ๆ ปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อกองทุนรวมตราสารหนี้ เช่น กองทุนรวมที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศก็จะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาวะทางการเมืองหรือเศรษฐกิจในประเทศที่ไปลงทุน ความเสี่ยงด้าน country risk รวมทั้งความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (foreign exchange risk) ด้วย
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
นโยบายกองทุนรวมตราสารหนี้
กองทุนรวมตราสารหนี้ คืออะไร?
กองทุนรวมตราสารหนี้เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก ทั้งตราสารหนี้ภาครัฐเช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ซึ่งเป็นได้ทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) และตราสารหนี้ระยะยาว
นโยบาย
มีนโยบายหลากหลาย เช่น อาจเน้นลงทุนในพันธบัตร (ซึ่งมักจะตั้งชื่อกองโดยใส่คำว่าพันธบัตรเข้าไปด้วย) ซึ่งอาจจะเน้นเป็นพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือตั๋วเงินคลัง โดยอาจเป็นพันธบัตรต่างประเทศก็ได้ หรือเน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน
นอกจากนี้ นโยบายยังแบ่งได้ตามกลยุทธ์ที่ผู้จัดการกองทุนใช้ในการบริหาร โดยอาจแบ่งได้เป็น บริหารแบบเชิงรุก (actively managed fund) ที่มุ่งเอาชนะผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิง (benchmark) ซึ่งได้แก่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ที่มีอายุ ใกล้เคียงกับอายุของตราสารที่กองทุนลงทุน และ บริหารแบบเชิงรับ (passively managed fund) ที่ลงทุนในตราสารและสัดส่วนที่เลียนแบบองค์ประกอบของพอร์ตดัชนีอ้างอิง (benchmark portfolio) เพื่อมุ่งสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง เช่น "กองทุนรวมดัชนีตราสารหนี้ (Bond-Index fund)" และ "กองทุนรวม ETF--Exchange Traded Fund ตราสารหนี้"
กองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นแบบ "กองทุนปิด" จะมีการกำหนดอายุโครงการไว้แน่นอนโดยมีการเสนอขายครั้งเดียวและไม่รับซื้อคืนก่อนครบอายุ บลจ. จะคืนเงินลงทุนให้ตามมูลค่ากองทุนรวม ณ วันที่ครบอายุ ซึ่งการที่ล็อกเงินไว้เป็นเวลาแน่นอนทำให้ผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารเงินลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า และอาจประมาณการอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้าได้อีกด้วยแต่สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็น "กองทุนเปิด" ซึ่งอาจกำหนดอายุโครงการหรือไม่ก็ได้ ก็มีข้อดีคือมีสภาพคล่องสูงกว่า เพราะเปิดให้ผู้ลงทุนซื้อ ๆ ขาย ๆ ได้ตลอด ซึ่งอาจจะเป็นทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละกองทุนรวมกำหนดไว้อย่างไร
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Knowles (1975, pp. 14-17) กล่าวถึง การเรียนรู้ด้วยตนเองว่ามีความสำคัญ 4 ประการ คือ 1. บุคคลที่เรียนรู้ด้วยการริเริ่มของตนจะเรียนได...
-
ข้อมูลบริษัท บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนการค้าระหว่าง ฮอนด้ามอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น กับบริษัท พี ไทยแลนด์ จำกัด ดำเนินธุรกิจ...
-
สภาพแวดล้อมภายนอกองค์การเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงมีความสำคัญมากในการกำหนดกลยุทธ์ด้วยเหตุผล 4 ประการคือ ประการแรก สภาพแวดล้อมเป็นทั...
-
การวิเคราะห์ สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กร (SWOT) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กรทางการศึกษา เพื่อศึกษาแนวโน้มการพัฒนาการศึกษา...
-
1. องค์กรแบบปฐม (Primary Organization) เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยสมาชิอกขององค์กรมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันดี และรูปแบบของความสัมพั...