วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความหมายของการตัดสินใจ (Decision making)

เชาว์ ไพรพิรุณโรจน์ (2532, หน้า 1) ได้ให้ความหมายของการตัดสินใจ หมายถึง “การพิจารณาเลือกวิธีปฏิบัติการจากหลายทางเลือกหลายๆทางเพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดีที่สุดเพียงทางเดียวเท่านั้น”
คนเราเมื่อเติบโตได้เรียน และมีประสบการณ์พอสมควรแล้วจะต้องเริ่มตัดสินใจและจะต้องใช้การตัดสินใจนี้ตลอดเวลาพร้อมกับต้องการสิ่งที่ดีที่สุดกับตนเอง ดังนั้น จึงนำเอกสารตัดสินใจมาใช้เพื่อสนองความต้องการของตนให้ดีที่สุดเท่าที่จะเลือกได้ การตัดสินใจจึงเป็นต้นเหตุของกิจกรรม หรือพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมาไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมอะไรก็ตาม
(Simon อ้างอิงใน เชาว์ ไพรพิรุณโรจน์, 2532, หน้า 6) ได้จำแนกการตัดสินใจ ออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การตัดสินใจปัญหาประจำตามแบบแผน (Programmed decision) หมายถึง การตัดสินใจที่ซ้ำกับครั้งก่อนๆ ปัญหาไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน เป็นต้น
2. การตัดสินใจนอกแบบแผน (Non-programmed decision) หมายถึง การตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นประจำ ต้องอาศัยการตัดสินใจที่ถูกต้องมีเหตุผล

กระบวนการตัดสินใจ กระบวนการตัดสินใจประกอบไปด้วยขั้นตอนดังนี้
1. การพิจารณาถึงตัวปัญหา หมายถึง ผลอันไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้น หรือสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อได้รู้ตัวปัญหาที่แท้จริงก็เท่ากับว่า เราแก้ปัญหาได้ครั้งหนึ่งแล้ว
2. การหาข้อมูล และการประเมินค่าของข้อมูลเป็นขั้นตอนที่จะช่วยในการตัดสินใจผู้ตัดสินใจจะต้องเสาะแสวงหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวปัญหา ตลอดจนเพียงพอในการแก้ปัญหาและจะต้องนำข้อมูลมาพิจารณาว่าเหมาะสมพอเพียง และเกี่ยวข้องกับปัญหาหรือไม่ หากมากเกินไปก็อาจต้องตัดออก หรือน้อยเกินไปก็อาจต้องหาเพิ่มเติม
3. การพิจารณาค้นหาทางเลือกต่างๆ ต้องมีความสามารถในการนึกถึง และริเริ่ม (Imagination creative thinking) หาทางเลือกไว้หลายๆ ทางเพื่อจะได้เลือกทางที่ดีที่สุด
4. การประเมินผลทางเลือกต่างๆ ในการประเมินทางเลือกเพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดีที่สุดนั้น จะต้องอาศัยศาสตร์ทางด้านวิทยาการจัดการ (Management sciences) และเทคนิคทางคณิตศาสตร์เข้าช่วยในการประเมินผลทางเลือก ซึ่งจะต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้อง

(Drucker อ้างอิงใน เชาว์ ไพรพิรุณโรจน์, 2532, หน้า 11) ได้กำหนดบรรทัดฐานสำหรับใช้พิจารณาเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดไว้ดังนี้ คือ
4.1 จะต้องพิจารณาถึงการเสี่ยงภัยของปัญหาที่เกี่ยวข้อง
4.2 จะต้องพิจารณาเลือกทางที่ง่ายในแง่ของการปฏิบัติ
4.3 จะต้องคำนึงถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมของการตัดสินใจ
4.4 จะต้องคำนึงถึงทรัพยากรที่มีจำกัด
5. การตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดควรใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดกับทางที่ตนได้เลือกไว้ และบางครั้งอาจต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ภายหลังจากการตัดสินใจก็ได้

การตัดสินใจภายใต้สภาวะต่างๆ
ในการใช้หลักเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์เพื่อช่วยในการตัดสินใจนั้น จะต้องมีปัจจัยหลักในการตัดสินใจ คือ
1.ทางเลือกในการตัดสินใจ (Alternative) ตามปกติจะต้องมีหนทางเลือกมากกว่า 1 เสมอจึงจะต้องตัดสินใจ
2.สภาวะทางธรรมชาติ (State of nature) คือ สภาวะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และมีผลต่อการตัดสินใจ ผู้ตัดสินใจต้องหาข้อมูล และคาดการณ์โอกาสซึ่งสภาวะนั้นจะเกิดกว่าเป็นเท่าใด
3.ค่าตอบแทน (Pay of) หมายถึง ผลประโยชน์ที่ผู้ตัดสินใจจะได้รับอาจเป็นผลของความพอใจที่ผู้ตัดสินใจได้รับ

ปัจจัยที่นำมาใช้เพื่อการประเมินทางเลือกโดยวิธีทางคณิตศาสตร์ โดยแบ่งการตัดสินใจเป็น 3 สภาวะ คือ
1. การตัดสินใจใต้สภาวะความแน่นอน (Decision under certainty) หมายถึง การตัดสินใจที่ผู้ตัดสินใจมีข้อมูลแน่นอนทราบว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ในอนาคตเมื่อตัดสินใจแล้ว การปฏิบัติการตามผลการตัดสินใจจะบังเกิดตามความคาดหมาย
2. การตัดสินใจภายใต้ความเสี่ยง (Decision under risk) หมายถึง การตัดสินใจภายใต้สภาวะที่มีข้อมูลบ้าง แต่ข้อมูลไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่นอน ทราบเพียงโอกาสที่จะเกิดหรือเป็นไปได้เท่านั้น
3. การตัดสินใจภายใต้สภาวะความไม่แน่นอน (Decision under uncertainty)หมายถึง การตัดสินใจที่ไม่สามารถคาดหมายโอกาสได้เลย จึงไม่สามารถคาดผลที่จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องตัดสินใจจากค่าตอบแทนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยหลัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น