วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ความหมายของการจ้างงานภายนอก

Outsourcing หมายถึง “The Practice of Subcontracting Manufacturing Work to Outside and Especially Foreign or Nonunion Companies” กล่าวคือ เป็นหลักปฏิบัติในการทำสัญญาให้หน่วยงานภายนอก ผลิต/บริการแทนโดยเฉพาะการให้บริษัทต่างประเทศ หรือบริษัทที่ไม่มีสหภาพแรงงาน (Merriam-Webster Incorporated, 1996, p. 827)
Heywood (2001, p. 27) ให้ความหมาย “การจ้างงานภายนอก” คือ การส่งต่อกิจกรรมทางธุรกิจหรืองานภารกิจภายในองค์การพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ให้บริการจากภายนอกองค์การที่เสนอให้บริการงานนั้นๆ ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ตามที่ได้ตกลงด้วยราคาค่าจ้างที่เหมาะสม Domberger (1998, p. 12) อธิบาย สัญญาจ้างและการจ้างงานภายนอก (contracting and outsourcing) ว่า “สัญญาจ้าง” หมายถึง แบบการสนับสนุนความสัมพันธ์ตามสัญญาข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้จำหน่าย ส่วน “การจ้างงานภายนอก” หมายถึง กระบวนการที่กิจกรรมต่าง ๆ โดยปกติจะดำเนินการเองภายในองค์การ ได้ถูกทำสัญญาจ้างให้ผู้ให้บริการภายนอกเป็นผู้ดำเนินการแทน Greenwood (1998, Abstract) ให้ความหมาย “การจ้างงานภายนอก” คือ การโอนย้ายกิจกรรมที่องค์การเคยปฏิบัติกันเองไปให้ผู้ให้บริการภายนอกองค์การจัดทำแทน Click and Duening (2005, p. 4) ให้ความหมาย “การจ้างงานภายนอกกระบวนงานธุรกิจ” (business process outsourcing) หมายถึง การโอนย้ายกระบวนงานธุรกิจจากภายในองค์การให้กับผู้ให้บริการงานภายนอกดำเนินการแทน
Cook (1999, p. 1) ให้ความหมาย “การจ้างงานภายนอก” หมายถึง การใช้บริการจากบุคคลที่สามเข้ามาจัดการกับงานธุรกิจหลักที่มีความสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจก้าวไปหรือกิจกรรมที่โดยปกติพนักงานภายในองค์การเป็นผู้ลงมือปฏิบัติเอง Greaver (1999, p. 3) อธิบายความหมายของการจ้างงานภายนอกไว้ว่า หมายถึง การส่งต่อกิจกรรมและการตัดสินใจขององค์การบางส่วนให้กับผู้ให้บริการจากภายนอกในรูปของการทำสัญญา มีลักษณะแตกต่างจากการใช้ที่ปรึกษาตรงที่การจ้างงานภายนอกไม่ได้หมายถึงแค่การส่งต่อกิจกรรมเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงปัจจัยในการผลิตและสิทธิในการตัดสินใจด้วย ปัจจัยการผลิต หมายถึง ทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย คน วัสดุอุปกรณ์ เทคโนโลยี และสินทรัพย์ต่าง ๆ ส่วนสิทธิในการตัดสินใจ หมายถึง ความรับผิดชอบในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของกิจกรรม
สุชาดา สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา (2541, หน้า 17) สรุปความหมาย “การจ้างงานภายนอก” หมายถึง ยุทธวิธีในการจัดกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดความกระชับเหมาะสมกับขนาดและค่าใช้จ่าย เกิดกระบวนการจ้างบุคคลภายนอกให้เป็นผู้ให้บริการงานบางอย่างซึ่งควรเป็นงานที่จัดขึ้นในองค์การนั้นเอง โดยต้องคำนึงถึงลักษณะงาน บุคลากร และค่าใช้จ่าย แวง (2542, หน้า 248) สรุปความหมายว่า “การจ้างงานภายนอก” หมายถึง การโอนสินทรัพย์ เช่น คอมพิวเตอร์ เครือข่าย และบุคลากรจากภายในองค์การไปสู่ผู้ให้บริการภายนอกที่คอยรับจัดการงานให้จากภายนอกโดยตรง โกวิทย์ กังสนันท์ (2544, หน้า 2-5) สรุปความหมายว่า “การซื้อบริการจากหน่วยงานภายนอก (outsourcing) หมายถึง การดำเนินการเคลื่อนย้าย หรือถ่ายโอนกิจกรรม/งานประจำภายในบางอย่าง (recurring internal activities) รวมถึงสิทธิการตัดสินใจ (decision rights) ขององค์การให้ผู้ให้บริการจากภายนอก โดยจัดทำในรูปของข้อตกลงสัญญา (contract) ร่วมกัน นิสดารก์ เวชยานนท์ (2548, หน้า 2-3) สรุปความหมายว่า การจัดซื้อสินค้าหรือบริการจากภายนอก (outsourcing) หมายถึง การตัดงาน หรือกิจกรรม หรือหน้าที่บางประการออกไปให้คนอื่นทำ โดยปกติในอดีตที่ทำมาก็มักจะตัดงานที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ให้บริษัทอื่นรับช่วงไปทำ ปัจจุบันการจัดซื้อสินค้าหรือบริการจากภายนอก จะขยายไปสู่การเป็นหุ้นส่วน (partners) ซึ่งผู้ที่มาเป็นหุ้นส่วนอาจจะเสนอบริการอย่างอื่นนอกเหนือจากกิจกรรมหรือบริการเดียวอย่างแต่ก่อน อาจจะเป็นกระบวนการใดกระบวนการหนึ่งขององค์การทั้งหมด บางครั้งกระบวนการ เหล่านี้ก็เป็นกระบวนการที่สำคัญของธุรกิจด้วย
จากความหมายทั้งหมด สรุปได้ว่า การจ้างงานภายนอกเป็นแนวคิด วิธีการ หรือกลยุทธ์ของการบริหารงานรูปแบบหนึ่ง โดยส่งต่อกิจกรรมที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก หรือกระบวนการบางกระบวนการที่เป็นธุรกิจหลัก ซึ่งองค์การเคยปฏิบัติเอง โดยเครื่องมือ อุปกรณ์ เทคโนโลยี พนักงานบางส่วน อาจส่งต่อทั้งหมดที่กล่าวมาหรือบางส่วนให้กับ ผู้ให้บริการจากภายนอกซึ่งมีความชำนาญและมีความพร้อมมากกว่าเป็นผู้ดำเนินการให้ องค์ประกอบสำคัญของการจ้างงานภายนอกประกอบด้วย การถ่ายโอนกิจกรรมให้หน่วยงานภายนอกหรือผู้ให้บริการดำเนินการแทน หน่วยงานภายนอกเป็นผู้จัดหาปัจจัยการผลิต เช่น คน เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวก เทคโนโลยี และอื่น ๆ ดำเนินการให้เกิดกิจกรรมหรือการถ่ายโอนสิทธิการตัดสินใจในการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานภายนอก สิทธิการตัดสินใจ หมายถึง ความรับผิดชอบในการตัดสินใจและ แก้ปัญหาเกี่ยวกับองค์ประกอบงานที่องค์การได้ถ่ายโอนให้แก่หน่วยงานภายนอกไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น