วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

การกำหนดภารกิจ และวิสัยทัศน์

สุพานี สฤษฎ์วานิช (2544, หน้า 20-25) สรุปว่า ภารกิจ (mission) คือ ข้อความที่จะบอกว่าองค์การนั้น ๆ จะดำเนินธุรกิจอะไร อย่างไร และเพื่อใคร เนื้อหาของภารกิจมักจะครอบคลุมขอบเขตของการดำเนินงาน ปรัชญาความเชื่อของกิจการเป้าหมายพื้นฐานและผลประโยชน์ ต่าง ๆ ของผู้มีส่วนได้เสียขององค์การองค์ประกอบสำคัญของภารกิจพิจารณาได้ ดังนี้
ขอบเขตของการดำเนินงานของธุรกิจซึ่งควรพิจารณาทั้งขอบเขตในปัจจุบัน (what business are we in?) และขอบเขตของธุรกิจที่ควรดำเนินการในอนาคต (what business should be in?) ปรัชญาความเชื่อและค่านิยมร่วมของกิจการ ผลประโยชน์ที่จะตอบสนองให้กับกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายพื้นฐานขององค์การและ/หรือนโยบายที่สำคัญในการดำเนินงาน ภารกิจที่เหมาะสมนั้นจะเกิดขึ้นได้ถ้าผู้บริหารระดับสูงขององค์การนั้น ๆ มีวิสัยทัศน์ (vision) ที่กว้างไกลและเป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกทาง
ผลิน ภู่เจริญ (2548, หน้า 199-203) สรุปวิสัยทัศน์ ว่าหมายถึง การประกอบของสองปัจจัยที่อยู่ร่วมกันอย่างสมดุลลงตัวในความอ่อนและความแข็งที่อยู่ร่วมกัน เปรียบเสมือนกับศาสตร์และศิลป์ที่ต้องมีประกอบกันในการจัดการเป็นลักษณะของการส่งเสริมระหว่างกันของสองปัจจัยที่สร้างให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างลงตัวมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้ด้วยตัวเองอย่างลงตัววิสัยทัศน์ประกอบด้วยสองส่วนสำคัญ คือ แก่นอุดมคติ (core ideology) และความ สามารถในการมองอนาคตข้างหน้า 5 ปี, 10 ปี, 15 ปี, 20 ปี และ 30 ปี (envision) ที่มีความแตกต่างจากการมองเห็นในอนาคตตามที่เข้าใจกัน คือ ต้องเป็นการมองเห็นอนาคตที่จะเกิดขึ้น โดยที่ต้องสามารถกำหนดให้ตัวเองเป็นผู้ชนะในการทำธุรกิจในอนาคต 5 ปี, 10 ปี และ 15 ปีข้างหน้า แตกต่างจากการมองเห็นอนาคต โดยที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง และองค์การแต่อย่างไร
เสน่ห์ จุ้ยโต และคนอื่น ๆ (2548, หน้า 5) สรุปว่า วิสัยทัศน์ คือ ความสามารถที่จะรับรู้บางสิ่งบางอย่างโดยผ่านกระบวนการคิดการรับรู้การตระหนักรู้ การสังเคราะห์ความคิดสร้างภาพฉายไปในอนาคต เป็นการสร้างภาพของสมองที่มุ่งมองอนาคต โดยเป็นภาพที่สมจริงสมจัง น่าเชื่อถือ น่าสนใจ เป็นภาพในอนาคตที่สะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมาย ความหวัง ค่านิยม ความเชื่อถือขององค์การ เป็นภาพชัดเจนที่บ่งถึงภาวะในอนาคตที่พึงประสงค์ เป็นข้อความที่บ่งถึงปรัชญาความมุ่งหมายของการปฏิบัติงานลักษณะสำคัญของวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเชิงกลยุทธ์ได้ 2 ประการ คือ
1. เป็นการคิดฉายภาพในอนาคต ซึ่งประกอบด้วยการคิดอนาคตที่ดีกว่า (rethinking principle) ใน 6 ด้าน ได้แก่ (1) คิดใหม่ต่อหลักการ (rethinking principle) (2) คิดใหม่ต่อการแข่งขัน (rethinking competition) (3) คิดใหม่ต่อการควบคุมและความสลับซับซ้อน (rethinking control and complexity) (4) คิดใหม่ต่อภาวะผู้นำ (rethinking leadership) (5) คิดใหม่ต่อตลาด (rethinking markets) และ (6) คิดใหม่ต่อโลก (rethinking the world)
2. การจินตนาการใหม่ในอนาคต เป็นจินตนาการฝันภาพในอนาคต โดยกำหนดให้ผู้นำองค์การต้องสร้างจินตนาการใหม่ขึ้นมา คิดให้กว้างไกล ให้เหนือกว่าคนอื่นต้องคิดประหลาดเกี่ยวกับธุรกิจในบริบทใหม่ เทคโนโลยีใหม่ มูลค่าใหม่ ยี่ห้อใหม่ ตลาดใหม่ งานใหม่ คนใหม่ วิถีทางใหม่
Pearce and Robinson (2009, pp. 25-26) กล่าวสรุปว่า ภารกิจ (mission) คือ จุดมุ่งหมายพื้นฐานที่ทำให้ธุรกิจหนึ่งแตกต่างไปจากอีกธุรกิจหนึ่ง ในเรื่องรูปแบบและขอบเขตของการดำเนินงาน ในรูปของสินค้าและการตลาด ภารกิจเป็นกรอบที่กว้างแต่เป็นการประกาศถึงความตั้งใจของบริษัท จะประมวลปรัชญาทางธุรกิจของนักตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ แสดงนัยถึงภาพพจน์ที่ธุรกิจมุ่งหวัง สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับตนเองของธุรกิจ และชี้ให้เห็นถึงสินค้า และบริการสำคัญ ในด้านต่าง ๆ และความต้องการของลูกค้า ที่จะอธิบายถึงสินค้า บริการ ตลาด และเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่มุ่งเน้น และบริษัทสามารถตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจได้ คำประกาศพันธกิจ (mission statement) คือ ข้อความที่แสดงออกมา เพื่อครอบคลุมความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสียทุกคนที่มีผลต่อการดำเนินงานของบริษัทในระยะยาว คำประกาศพันธกิจ เป็นการพิจารณาคำถามต่อไปนี้ ทำไมบริษัทจึงอยู่ในธุรกิจ เป้าหมายทางเศรษฐกิจของเรา คือ อะไร ปรัชญาการดำเนินงานของเราในรูปของคุณภาพ ภาพลักษณ์ของบริษัท และแนวคิดของตนเอง คือ อะไร กำลังความสามารถหลัก และความได้เปรียบเชิงแข่งขันของเรา คือ อะไร ลูกค้าทำอะไรและเราสามารถสนองอะไรให้ได้บ้าง เรามองความรับผิดชอบของเราที่มีต่อผู้ถือหุ้น พนักงาน ชุมชน สภาพแวดล้อม ประเด็นทางสังคม และคู่แข่งอย่างไร
โดยสรุป การกำหนดภารกิจและวิสัยทัศน์ เป็นการกำหนดข้อความที่มีความหมายว่า องค์การจะได้ดำเนินงาน อย่างไรในอนาคตซึ่งเกิดจากจิตนาการบนพื้นฐานตามความสามารถขององค์การอันจะนาไปสู่ความสำเร็จขององค์การนั้น


บรรณานุกรม

ธีระ กรใหม่. พลตรี. (2553). การจัดการเชิงกลยุทธ์ของทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สุพานี สฤษฎ์วานิช. (2544). การบริหารเชิงกลยุทธ์: แนวคิดและทฤษฎี. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ผลิน ภู่เจริญ. (2548). การจัดการธุรกิจร่วมสมัย: กรอบแนวคิดใหม่ทางการจัดการในการสร้างและพัฒนาผลผลิตในการแข่งขัน (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เอกพิมพ์ไทย.

เสน่ห์ จุ้ยโต และคนอื่น ๆ. (2548). วิจัยทัศน์. ใน เอกสารการสอนชุดวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์ในภาครัฐ (หน่วยที่ 1-8). นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

Pearce, J. A., & Robinson, R. B. (2009). Strategic management: Formulation, implementation and control (11th ed.). New York: McGraw-Hall.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น