การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (product development) เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมสำหรับตลาดปัจจุบันด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่โดยปรับปรุงให้ใหญ่ขึ้น ทำให้เล็กลง เปลี่ยนแปลง รวมหรือแยกลักษณะต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ สร้างคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างจากคู่แข่งขัน เพิ่มรูปแบบและขนาดผลิตภัณฑ์ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จะต้องมีการศึกษาความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
1. ระบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ( product development system ) กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิผลนั้นจะสัมพันธ์กับการตัดสินใจด้านผลิตภัณฑ์ กระแสเงินสด ตลาดที่เปลี่ยนไป วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ และขีดความสามารถขององค์การ บริษัทต้องมีเงินสดสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงว่าจะต้องเกิดขึ้นในตลาดต้องมีความรู้ความสามารถ และมีทรัพยากรอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ระบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาจได้รับการตัดสินใจอย่างดี ซึ่งไม่ใช่มุ่งเพียงผลิตผลิตภัณฑ์ได้เท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงอนาคตของบริษัทด้วย
2. การจัดองค์การสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดองค์การสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (organizing for product development) จะมีวิธีปฏิบัติการต่าง ๆ ดังนี้
วิธีที่ 1 เป็นวิธีการของสหรัฐอเมริกา ที่ปฏิบัติกันมาเพื่อทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยทำการพัฒนาที่แผนกและที่ความแตกต่างกันขององค์การ แผนกเหล่านี้จะเริ่มด้วยการให้แผนกวิจัยและพัฒนาทำงานวิจัยที่จำเป็นจากนั้นวิศวกรของแผนกจะออกแบบผลิตภัณฑ์ แล้วส่งต่อให้วิศวกรฝ่ายผลิตทำการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถผลิตได้และขั้นสุดท้ายแผนกการผลิตจะผลิตผลิตภัณฑ์ออกมา ข้อดีของวิธีนี้คือ เป็นการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบ แต่มีข้อเสียคือ การขาดความคิดที่ก้าวหน้า และคำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำอย่างไรแนวความคิดการพัฒนาในแต่ละลำดับขั้นนั้นมีความสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ
วิธีที่ 2 เป็นวิธีที่นิยมอย่างแพร่หลายคือ มอบหมายให้ผู้จัดการฝ่ายผลิต ทำการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ดีสุด ที่ผ่านระบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาแล้วและองค์การสามารถผลิตได้
วิธีที่ 3 อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุด คือการใช้ทีมหรือคณะทำงานเช่น ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทีมออกแบบสำหรับการผลิต ทีมวิศวกรรมคุณค่า การเชื่อมโยงทีมด้วยการไม่แบ่งองค์การออกเป็นแผนกย่อย ๆ เช่น แผนกวิจัยและพัฒนา แผนกวิศวกรรม แผนกการผลิต และอื่น ๆ ด้วยรูปแบบของกลุ่มและทีมงานในแบบของญี่ปุ่น กิจกรรมเหล่านี้จะรวมเป็นหนึ่งในองค์การ รูปแบบการบริหารจะมีความเป็นมิตรและองค์การจะมีโครงสร้างน้อยเพื่อความจำเป็นด้านการติดต่อสื่อสารและประสานงาน
2.1 ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ (product development teams) เป็นทีมซึ่งรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงความต้องการจากตลาด เพื่อทำให้บรรลุผลสำเร็จด้านผลิตภัณฑ์ (Heizer and Render. 1999 : 202) ทีมเช่นนี้มักประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายการตลาด ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายประกันคุณภาพ และบุคลากรบริการภาคสนาม โดยทั่วไปแล้วทีมจะประกอบด้วยตัวแทนขาย เนื่องจากจุดประสงค์ของทีมประเภทนี้คือ เพื่อทำสินค้าและบริการให้ประสบความสำเร็จซึ่งรวมถึงความสามารถทางการตลาด (marketability)ความสามารถทางการผลิต (manufacturability) และความสามารถด้านการบริการ (serviceability)
2.2 การใช้งานวิศวกรรม (concurrent engineering) เป็นกิจกรรมซึ่งช่วงปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์การผลิต ความสามารถในการรักษาและใช้งาน (Heizer and Render. 1999 : 202) หรือเป็นการเชื่อมโยงวิศวกรรมกับกระบวนการผลิตและสินค้าเข้าด้วยกันทำให้การผลิตสินค้าทั้งหลายสามารถสอดคล้องกับสมรรถภาพในการผลิตมากยิ่งขึ้น และยังเป็นทีมที่ร่วมกันออกแบบและร่วมทำกิจกรรมด้านวิศวกรรมด้วย การใช้ทีมจะมีตัวแทนจากหน้าที่ต่าง ๆ ทั้งหมด หรือเรียกว่าทีมข้ามหน้าที่ (cross - functional team) ทีมชนิดนี้จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็วกว่า
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (product development)
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
ความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดให้ดียิ่งขึ้น หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีความหลากหลายในรสชาติ รูปแบบ สีสัน ฯลฯ หรือการผลิตผลิตภัณฑ์นวัตกรรม (innovation) เกิดจากความจำเป็น ปัญหา หรือการคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งความต้องการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มีสาเหตุมาจาก
1. วัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์มีช่วงเวลาที่สั้นลง ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันเกิดและรุ่งเรืองจนกระทั่งเสื่อมความนิยมได้อย่างรวดเร็วกว่าในสมัยก่อน เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบันล้ำหน้าด้วยวิทยาการที่ทันสมัยกว่า การแข่งขันของธุรกิจก็มีมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้วัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์สั้นลง ต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ยอดขายหรือส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับคงที่ มิฉะนั้นก็จะต้องออกจากธุรกิจนั้นไป บางครั้งธุรกิจต้องใช้วิธี Cannibalism ซึ่งเป็นการดับรัศมีผลิตภัณฑ์ที่กำลังผลิตและจำหน่ายอยู่แม้ว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังคงทำเงินให้แก่ธุรกิจ ด้วยการผลิตของรุ่นใหม่ที่ดีกว่าด้วยราคาที่แข่งขันได้ในตลาดแล้วลดราคาตัวเก่าลง วัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน คือ
1.1 ขั้นแนะนำสินค้า (introduction)
1.2 ขั้นยอดขายเจริญเติบโต (growth)
1.3 ขั้นยอดขายอิ่มตัว (maturity)
1.4 ขั้นยอดขายลดลง (decline)
สินค้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดความต้องการในระยะแรกๆ อาจจะต่ำ มีน้อย เพราะผู้ซื้อยังไม่คุ้นเคยกับสินค้า ราคาสินค้าในช่วงนี้อาจจะต่ำ เมื่อสินค้าเข้าสู่ขั้นยอดขายอิ่มตัว อาจจะต้องมีการพัฒนาสินค้ารูปแบบหรือเพิ่มขนาดใหม่ อาจมีการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่เข้ามาแทนที่สินค้าเก่า ที่จะหายไปเช่น พัฒนาโทรทัศน์สีมาแทนโทรทัศน์ขาวดำ เตารีดไฟฟ้าแทนเตารีดถ่าน เป็นต้น
2. ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันรีบเร่งมากขึ้น ต้องอาศัยเครื่องทุ่นแรงมากขึ้น เพื่อประหยัดเวลาในการทำงานบ้านหรือการทำความสะอาด การเลียนแบบวัฒนธรรมของประเทศที่เจริญทำให้เครื่องแต่งกายและข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป เช่น การสวมเสื้อสูทในงานที่เป็นทางการ หรือการสร้างบ้านทรงแบบตะวันตก, การอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม นอกจากนั้นความต้องการของลูกค้ายังเปลี่ยนแปลงไปเพราะการติดต่อสื่อสารที่ทั่วถึงกันทุกมุมโลก ข้อมูลสารสนเทศถูกแพร่กระจายในสื่อต่าง ๆ เช่น Internet ทำให้เกิดการรับรู้และสนใจผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อันจะนำไปสู่การเกิดอุปสงค์ในสินค้าและบริการใหม่นั้น
3. สภาพเศรษฐกิจ ในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ จะมีผลต่อผลิตภัณฑ์ที่วางขายในท้องตลาดเป็นอย่างมาก เพราะในช่วงเศรษฐกิจดีลูกค้าจะมีกำลังซื้อสูง การเสนอสินค้ารูปแบบทันสมัยสวยงาม หน้าที่การใช้งานครบครันและราคาค่อนข้างสูงจะสามารถทำตลาดได้ไม่ยาก แต่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำลูกค้ามีกำลังซื้อลดลง การเสนอสินค้าที่มีความทนทาน ในการใช้งานที่มีคุณภาพพอสมควรและราคาประหยัด จึงจะสามารถดึงดูดลูกค้าจำนวนมากได้ สภาพเศรษฐกิจมีผลอย่างมากต่อระดับรายได้ของลูกค้า ดังนั้นอัตราดอกเบี้ย , อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา , อัตราการว่างงาน ,รายได้ประชาชาติ, ดัชนีราคาผู้บริโภค ฯลฯ ล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระทบต่อระดับอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีผลต่อความจำเป็นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยรักษาระดับส่วนแบ่งตลาดขององค์การธุรกิจนั้นเอาไว้
4. สภาพแวดล้อม สภาพอวดล้อมที่องค์การควบคุมไม่ได้ เช่น กฎหมาย การเมือง ตีกรอบกำหนดรูปแบบและลักษณะของผลิตภัณฑ์ให้ธุรกิจจำเป็นต้องปฏิบัติตาม เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคหรือกฎหมายสาธารณสุขว่าด้วยอาหารและยา กำหนดส่วนผสมของอาหารและขนม และควบคุมความสะอาดของตัวผลิตภัณฑ์ภายใต้ข้อจำกัดหนึ่ง หรือ กระทรวงพาณิชย์กำหนดขนาดบรรจุของน้ำดื่ม และมาตรฐานราคา เป็นต้น รวมไปถึงมาตรฐานคุณภาพสากลก็มีผลต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะออกไปสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศด้วย
ทุกคนในองค์การสามารถมีส่วนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่โดยทั่วไปแล้วการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จะเป็นหน้าที่ที่ฝ่ายการผลิตและฝ่ายการตลาดจะต้องร่วมมือกันอย่างดี เพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับตัวผลิตภัณฑ์ขององค์การ ซึ่งการจัดทีมงานแบบ Cross function จะช่วงให้การประสานงานระหว่างฝ่ายต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและสอดคล้องกันมากกว่าการแบ่งงานตามหน้าที่ของแต่ละแผนก นอกจากฝ่ายการตลาดแล้ว ฝ่ายการผลิตยังต้องประสานงานกับฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายการเงิน และผู้บริหารระดับสูง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถทำกำไรให้แก่องค์การ
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
ลักษณะการผลิตแบบต่อเนื่อง
ระบบการผลิตแบบต่อเนื่อง (Continuous Production System)
ระบบการผลิตแบบต่อเนื่อง เป็นระบบที่มีการไหลของวัตถุดิบต่อเนื่องตามสายการผลิต (Line production) เช่น โรงพิมพ์ พิมพ์หนังสือ โรงงานผลิตอาหารกระป๋อง การผลิตแก้วของโรงงานผลิตแก้ว บุหรี่ ไม้อัด น้ำตาล เป็นต้น ลักษณะที่ดีของระบบการผลิตต่อเนื่องก็คือใช้พื้นที่ในโรงงานได้ประโยชน์คุ้มค่าเต็มประสิทธิภาพ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นพื้นที่ในกระบวนการผลิตของสายการผลิตเหลือพื้นที่ในการเก็บวุตถุดิบเล็กน้อย และการขนย้ายวัตถุดิบในสายการผลิต ก็จะใช้การขนย้ายแบบตายตัว เช่น ใช้สายพาน (Conveyers) ขนย้ายวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในระบบการผลิตแบบต่อเนื่อง ผู้ผลิตจะต้องวางผังโรงงานให้สอดคล้องกับระบบการผลิต ผังของโรงงานอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับระบบการผลิตแบบต่อเนื่องที่ใช้กันมากก็คือ การวางผังโรงงานแบบชนิดของผลิตภัณฑ์ (Product Layout)
ลักษณะการผลิตแบบต่อเนื่อง มีลักษณะการผลิตดังนี้
1. มีอุปกรณ์และกระบวนการผลิตมาตรฐาน
2. ลักษณะของปัจจัยการผลิต จะมีมาตรฐานแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงชนิดหรือส่วนประกอบ
3. ลำดับการผลิตแน่นอน
4. การไหลหรือการเคลื่อนย้ายของงานมักจะใช้สายพาน (Conveyor Belts)
5. การป้อนงานเข้าหน่วยผลิตแต่ละหน่วย จะใช้กฎเกณฑ์ตามลำดับมาก่อนเข้าก่อน
6. ผลิตสินค้ามาตรฐานได้ทีละมาก ๆ (Mass Production)
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
ระบบการผลิต (Division of Production system
ระบบการผลิตอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็นระบบใหญ่ ๆ ได้ 2 ระบบ คือ
1. ระบบการผลิตแบบช่วงตอน (Intermittent Production System)
2. ระบบการผลิตแบบต่อเนื่อง (Continuous Production System)
ระบบการผลิตแบบช่วงตอน (Intermittent Production System)
ระบบการผลิตแบบช่วงตอน เป็นการผลิตแบบไม่สม่ำเสมอ หรือผลิตตามคำสั่งของลูกค้า (Order Manufacturing) เป็นการผลิตที่วัตถุดิบไม่เลื่อนไหลไปตามสายการผลิต การผลิตจะผลิตเป็นช่วง ๆ หรือเป็นตอน เมื่อดำเนินการผลิตครบทุกกิจกรรมการผลิต ก็จะได้ชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปขึ้นมา เช่น การกลึงชิ้นงาน งานผลิตงานก่อสร้าง การผลิตโต๊ะเกาอี้ เป็นต้น การผลิตแบบช่วงตอนนี้ ระบบการผลิตเป็นไปตามความเหมาะสมของผู้ดำเนินงานการติดตั้งเครื่องจักร ก็จะติดตั้งตามกรรมวิธีการผลิต จึงเป็นผลทำให้มีความต้องการการใช้พื้นที่ในการเก็บวัสดุในการผลิตมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการผลิตระบบนี้มีจุดพักงานหลายจุดและในการผลิตแบบนี้ผู้ผลิตจะต้องกำหนดวิธีการขนย้ายวัสดุให้เหมาะสมจึงจะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพและในการวางระบบการผลิตแบบช่วงตอนนี้จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพนี้ผู้ผลิตจะต้องกำหนดแนวทางการผังโรงงาน ให้สอดคล้องกับระบบการผลิตด้วย การวางผังโรงงานที่เหมาะสมกับระบบการผลิตแบบช่วงตอนนี้ คือ การวางผังโรงงานแบบตามกระบวนการผลิต (Process Layout)
ลักษณะการผลิตแบบช่วงตอน มีลักษณะดังนี้
1. มีอุปกรณ์และกระบวนการผลิตที่ยืดหยุ่น (Flexible) ได้สามารถผลิตสินค้าได้หลายแบบ
2. ลักษณะของปัจจัยการผลิตจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอตามลักษณะงานแต่ละชิ้น
3. ลักษณะการผลิต จะเปลี่ยนแปลงไปเสมอตามลักษณะงานแต่ละชิ้น
4. การไหลหรือการเคลื่อนย้ายของงานจะไม่ติดต่อกัน มักจะมีการพักวัตถุดิบหรือรอคอยวัตถุดิบการผลิตทุกจุดปฏิบัติงาน
5. คนงานที่ปฏิบัติงาน จะต้องมีความสามารถในระดับปานกลางไปจนถึงระดับสูง
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
ระบบการผลิตและการปฏิบัติการ
ระบบการผลิตและการปฏิบัติการ ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ส่วน ซึ่งได้แก่ ปัจจัยนำเข้า (input) กระบวนการผลิตและแปลงสภาพ (production or conversion process) ผลได้ (output) ส่วนป้อนกลับ (feedback) และผลกระทบจากภายนอกที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้คาดหมาย (random fluctuations) ปัจจัยนำเข้า คือส่วนของทรัพยากรหรือสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตสินค้าหรือบริการ ซึ่งโดยทั่วไปประกอบด้วย เงินทุน แรงงาน เครื่องจักร ที่ดิน วัตถุดิบ และความรู้ความสามารถในด้านการจัดการกระบวนการผลิตและแปลงสภาพ คือส่วนที่ทำหน้าที่นำเอาปัจจัยนำเข้ามาผลิต และแปลงสภาพเพื่อให้ได้เป็นสินค้าหรือบริการตามที่ต้องการ กระบวนการผลิตหรือแปลงสภาพประกอบด้วย วิธีการในการผลิตสินค้า วิธีการจัดลำดับการผลิต การวางแผนการผลิต การจัดสรรกำลังคนเพื่อการผลิต และอื่น ๆ ส่วนป้อนกลับ คือส่วนที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของกระบวนการ เพื่อให้การทำงานของระบบการผลิตบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนป้อนกลับนี้จะทำหน้าที่ประเมินผลได้ เช่น ปริมาณและคุณภาพของสินค้าที่ผลิตได้ นำมาเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่วางแผนไว้ จากผลการเปรียบเทียบจะนำไปสู่การปรับปัจจัยนำเข้าหรือกระบวนการผลิตหรือแปลงสภาพ เพื่อสร้างผลได้ตามที่ต้องการออกมา
การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดหมาย ระบบการผลิตและการปฏิบัติการใด ๆ เมื่อดำเนินการอยู่อาจมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้คาดหมายแต่มีผลกระทบต่อการดำเนินการ โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงนี้จะมาจากภายนอกระบบหรือนอกองค์การ และอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของผู้บริหาร ตัวอย่างเช่น สภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ อุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ การขัดข้องเสียหายของเครื่องจักร เหล่านี้เป็นต้น
0 ความคิดเห็น Filed Under: | Continue>>>
บทความที่ได้รับความนิยม
-
Knowles (1975, pp. 14-17) กล่าวถึง การเรียนรู้ด้วยตนเองว่ามีความสำคัญ 4 ประการ คือ 1. บุคคลที่เรียนรู้ด้วยการริเริ่มของตนจะเรียนได...
-
ข้อมูลบริษัท บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนการค้าระหว่าง ฮอนด้ามอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น กับบริษัท พี ไทยแลนด์ จำกัด ดำเนินธุรกิจ...
-
สภาพแวดล้อมภายนอกองค์การเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงมีความสำคัญมากในการกำหนดกลยุทธ์ด้วยเหตุผล 4 ประการคือ ประการแรก สภาพแวดล้อมเป็นทั...
-
การวิเคราะห์ สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กร (SWOT) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กรทางการศึกษา เพื่อศึกษาแนวโน้มการพัฒนาการศึกษา...
-
1. องค์กรแบบปฐม (Primary Organization) เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยสมาชิอกขององค์กรมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันดี และรูปแบบของความสัมพั...