Custom Search

กลยุทธ์ในการจัดการธุรกิจ

Posted on วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552 by modal

คำว่าองค์การ (Organization) คือกลุ่มของบุคคล ที่รวมกันเพื่อวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีการแบ่งภาระ หน้าที่ ของคนในองค์การอย่างชัดเจน ซึ่งองค์การเองก็จะมีหลายลักษณะ ประเภท แล้วแต่ว่าเราจะมีมุมมองที่จะมององค์การในมุมไหน ซึ่งสามารถแยกออกเป็นหลายมุมมอง
หากมองในเรื่องขนาด ก็จะสามารถแบ่งออกเป็น
1. องค์การขนาดใหญ่
2. องค์การขนาดกลาง
3. องค์การขนาดเล็ก
โดยทั่วไปการแบ่งโดยใช้ขนาดขององค์การเป็นเกณฑ์ ก็มักจะใช้ ตัวชี้วัดหลายอย่าง เช่น จำนวนคนงาน จำนวนเงินทุนจดทะเบียน หรือขนาดเครื่องจักร อาคาร ส่วนแบ่งการตลาด เป็นต้น
หากมองด้านวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์การก็จะแบ่งได้ดังนี้
1. องค์การที่แสวงหาผลกำไร แน่นอนว่าองค์การธุรกิจส่วนใหญ่จะต้องมุ่งหวังผลกำไรจากการดำเนินกิจการ หากได้กำไรมากองค์การนั้นก็จะเจริญเติบโต ซึ่งก็มักจะขยายขนาดของกิจการ หรือแตกสายของธุรกิจออกไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้ได้กำไรเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง ตามหลักของเศรษฐศาสตร์ หากองค์การใดดำเนินกิจการแล้วมีแต่ขาดทุน องค์การนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ในโลกแห่งธุรกิจ
2. องค์การของรัฐ มีกิจกรรมบางประเภท ที่องค์การของภาคเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูง ระยะเวลาคืนทุนนาน หรือมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนโดยรวม รัฐก็จำเป็นต้องลงทุนเอง แม้อาจจะลงทุนสูงไม่มีกำไร แต่ก็ต้องทำ เช่น การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า น้ำประปา กิจกรรมเกี่ยวกับสาธารณสุข การคมนาคม ขนส่ง บางกิจกรรมแม้ภาคเอกชนจะต้องการทำ แต่รัฐก็จำเป็นต้องควบคุม หรือไม่อนุญาตให้เอกชนทำ โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนเอง หรือให้เอกชนทำในรูปสัมปะทาน ด้วยเหตุผลทางสังคม เช่น การผลิตบุหรี่ การโทรคมนาคม เหมืองแร่ เป็นต้น
3. องค์การที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไร แม้จะเป็นหน่วยงานของภาคเอกชนหรือของรัฐ ก็ตาม ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม เช่น มูลนิธิ ต่างๆ เงินในการดำเนินกิจการก็จะได้มาจากการบริจาค หรือ การสนับสนุน จากองค์การอื่นๆ บุคคล หรือจากรัฐ
หากมองโดยใช้ลักษณะกิจกรรมขององค์การ จะแบ่งได้ดังนี้
1. การผลิต หมายถึงการดำเนินการ เปลี่ยนแปลง แปรรูป วัตถุดิบไปสู่ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า เพื่อจัดจำหน่าย องค์การประเภทนี้จะมีสินค้าเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้เงินจากผู้ซื้อ กำไรที่ได้ก็เกิดจากส่วนต่างราคาขายสินค้า กับต้นทุนการดำเนินการ เช่น. ธุรกิจโรงสีข้าว ปูนซิเมนต์ น้ำมัน รถยนต์ เป็นต้น
2. การบริการ ส่วนมากจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือแปรรูป วัตถุดิบ ไปเป็นสินค้า แต่ตัวสินค้าขององค์การประเภทนี้คือ การดำเนินการบางอย่างแทนผู้ใช้บริการ และได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน เช่น ธุรกิจรับออกแบบ การขนส่ง ธนาคาร โรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร ร้านซ่อมรถยนต์ เป็นต้น
เงินคือความอยู่รอด
องค์การทุกประเภทที่กล่าวมา ดำรงความเป็นองค์การอยู่ได้ก็ด้วยเงิน ถ้าเป็นภาคเอกชนก็จะได้มาจากผู้ลงทุนหรือผู้ถือหุ้น ผลตอบแทนในการดำเนินกิจการ ถ้าเป็นองค์การของรัฐ ก็มีทั้งที่ได้จากผลตอบแทนในการดำเนินกิจการ และอาจจะได้รับการอุดหนุนจากรัฐ ซึ่งก็คือภาษีของประชาชนทุกคน ในกรณีที่องค์การนั้นไม่มีกำไร ถ้าจำเพาะเจาะจงเฉพาะองค์การภาคเอกชนที่แสวงหากำไรจากการดำเนินกิจการแล้ว เงินถือได้ว่าเป็นปัจจัยหลักของความอยู่รอด ดังนั้นองค์การที่ดี จะต้องมีการจัดการที่ดี ในทุกๆด้าน เพื่อให้มีกำไร คำกล่าวที่ว่า “ ต่อให้ทำสินค้าที่ดีที่สุดออกวางจำหน่าย แต่ถ้าขายไม่ได้ สินค้านั้นก็ไม่ต่างอะไรจากขยะ ” เมื่อเงินเป็นปัจจัยของความอยู่รอด การจัดการองค์การที่แสวงหาผลกำไรจึงต้องมีเป้าหมายทุกอย่างมุ่งไปที่เงิน
แต่ละยุคแต่ละสมัยต่างกัน
เมื่อเริ่มยุคแห่งอุตสาหกรรมใหม่ๆ ถือว่าเป็นยุคทองของผู้ขาย เพราะนอกจากจะมีคู่แข่งน้อย หรือไม่มีเลย ผู้ซื้อยังแย่งกันซื้อสินค้าด้วยซ้ำไป ลักษณะสินค้าที่ผู้ผลิต ผลิตออกมาจึงเป็นประเภทที่ว่า “ขอให้ใช้งานได้ก็พอแล้ว” ยังไงก็ขายได้อยู่ดี ผู้ผลิตจึงให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพของตัวสินค้าไม่มากนัก สนใจแค่ว่าสินค้านั้น มันทำงานได้ตามที่ควรจะเป็นก็พอ เช่น ผู้ผลิตเครื่องรับวิทยุยุคแรกๆ จะไม่เน้นเรื่องความสวยงาม เรื่องอายุใช้งาน ขอให้เปิดเครื่องแล้วรับฟังสถานีส่งได้ก็พอ
เมื่อมีคนแรกประสบความสำเร็จ ก็จะเริ่มมีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาเป็นคู่แข่ง ทีนี้สินค้าที่ผลิตออกมาก็อาจจะไม่มีคนซื้อก็เป็นได้เพราะผู้ซื้อมีทางเลือก ผู้ผลิตจึงเริ่มหันมาสนใจสิ่งที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น เช่น ด้านคุณภาพ และความสวยงาม กะทัดรัด ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อสินค้าของตน
เมื่อมีคู่แข่งมากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยี การผลิตที่ก้าวหน้า ก็ทำให้ผลิตได้มากขึ้น จนถึงขนาดทำให้สินค้ามีมากกว่าความต้องการ คราวนี้แหละเป็นทีของผู้ซื้อหละ ผู้ผลิตจะต้องให้ความสนใจในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ในตัวสินค้ามากขึ้น จนชนิดที่ว่าเกินกว่าความต้องการ หรือความคาดหมายของผู้ซื้อ เช่น คุณภาพ สีสัน รูปทรง ใช้งานง่าย คงทน แต่ความเป็นสินค้าก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ ความเป็นสินค้าก็คือรับชมภาพ ได้ยินเสียง ซึ่งผู้ผลิตทุกคนก็สามารถผลิตได้ การแข่งขันจึงอยู่ที่อื่น ดังเช่น มีจอแบนให้ภาพคมชัดกว่า กดรีโมทแล้วขึ้นข้อความเป็นภาษาไทย แม้แต่สามารถต่อเข้ากับสื่อผสม (Multi-media) ชนิดอื่นๆได้หลากหลาย เป็นต้น
แค่ไหนถึงจะพอใจผู้ซื้อ
ในขณะที่ผู้ผลิตได้ทุ่มเททรัพยากร เพื่อพัฒนาตัวสินค้า ทั้งด้านเทคโนโลยี รูปแบบ และความสามารถของตัวสินค้า แต่ดูเหมือนว่า ยุคของผู้ซื้อเป็นใหญ่ก็ยังไม่หมดไป อำนาจต่อรองส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ผู้ซื้อเป็นหลัก เหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะปัจจุบันเป็นยุคที่
- มีผู้ผลิต ผู้ให้บริการหลายราย คู่แข่งทางธุรกิจก็มากขึ้น เกิดการกีดกันการค้าขึ้น ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับไปเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว คนที่ซื้อโทรศัพท์มือถือยุคนั้น เปรียบเสมือนไปขอบริษัทผู้ให้บริการ ว่าขอซื้อเครื่อง พร้อมเบอร์มาใช้ เงื่อนไขยังไงก็ไม่เกี่ยง ราคาเครื่องก็แพง ค่าโทรต่อนาทีก็แพง แล้วลองดูวันนี้ซิว่า ท่านเห็นอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง บริษัทผู้ให้บริการ เกือบจะให้เครื่องพร้อมเบอร์กับท่านฟรีอยู่แล้ว ค่าโทรก็ถูกลง ทั้งนี้ก็เพราะมีผู้ให้บริการเพิ่มมาหลายรายนี่เอง ทำให้ต่างคนต่างก็ต้องหาฐานลูกค้าใหม่ รักษาลูกค้าเก่า
- โลกไร้พรมแดน มีการลงทุนข้ามชาติ มีการส่งสินค้าไปขายได้ทั่วโลก สินค้าที่เมืองจีน เป็นตัวอย่างที่ดี ที่สามารถทำให้กิจการประเภทเดียวกัน ในเมืองไทย ซบเซา หรือปิดกิจการไป ทั้งๆที่อยู่ไกลกันหลายพันไมล์
- มีสินค้าอย่างอื่นทดแทน เทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลองนึกภาพสมัยที่เราเริ่มรู้จักแผ่น VCD เป็นครั้งแรก ราคาต่อแผ่น เกือบเป็นเงินพัน เครื่องเล่น ก็หลักหมื่น แต่พอมีเทคโนโลยี DVD เข้ามา ทุกวันนี้ ราคา VCD ไม่ถึงร้อย เครื่องเล่นก็อยู่ไม่เกิน สองสามพัน เท่านั้น ก็ยังไม่ค่อยมีคนซื้อ หรือท่านผู้อ่านยังนึกหน้าตาหรือวิธีการใช้งานวิทยุติดตามตัว หรือ Pager ได้หรือเปล่า บางคนอาจจะลืมไปแล้ว บางคนอาจไม่เคยเห็นด้วยซ้ำไป การเข้ามาแทนที่ของโทรศัพท์มือถือ ทำให้ เทคโนโลยีวิทยุติดตามตัวนี้กำลังหมดยุค ไปเรื่อยๆ ทั้งที่เพิ่งจะเกิดมาได้ไม่นานนี่เอง
- ผู้ซื้อมีความรู้มากขึ้น ช่างเลือก ช่างติ ช่างเปรียบเทียบ มากขึ้น การจะตัดสินใจซื้อสินค้าแต่ละครั้งผู้ซื้อจะมีทางเลือกหลายทาง และจะตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดเสมอ

บทความที่ได้รับความนิยม