Custom Search

การตรวจสอบวิเคราะห์สภาพแวดล้อม

Posted on วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555 by modal

สุพานี สฤษฎ์วานิช (2544, หน้า 43, 77) อธิบายว่า สภาพแวดล้อมขององค์การอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ (1) สภาพแวดล้อมภายในองค์การ (internal factors) จะเป็นปัจจัยต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์การ เช่น ทรัพยากรทางการเงิน เครื่องจักร อาคารสถานที่ บุคลากร และการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ขององค์การสภาพแวดล้อมภายในองค์การ จะทำให้องค์การทราบว่าสามารถทำอะไรได้บ้างและ (2) สภาพแวดล้อมภายนอก (external factors) จะเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์การ เช่น คู่แข่งขัน ลูกค้าซัพพลายเออร์ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นต้น แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ระดับ คือ (1) สภาพแวดล้อมในระดับมหภาค (macro หรือ general environments) ได้แก่ สภาพแวดล้อมทั่วไปในระดับกว้าง คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมเทคโนโลยี (2) สภาพแวดล้อมในระดับอุตสาหกรรม (industry environments) ได้แก่ ลูกค้า คู่แข่งขัน และผู้ขายปัจจัยการผลิต (ซัพพลายเออร์) เป็นต้น (3) สภาพแวดล้อมในระดับโลก (global environments) เป็นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมในต่างประเทศแต่มีผลกระทบต่อเนื่องมายังสภาพแวดล้อมในระดับมหภาคและสภาพ แวดล้อมในระดับอุตสาหกรรมด้วย
เสน่ห์ จุ้ยโต และคนอื่น ๆ (2548, หน้า 11) กล่าวสรุปว่าสภาวะแวดล้อมประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก คือ สภาวะแวดล้อมภายนอก ได้แก่ สภาวะแวดล้อมทั่วไป สภาวะแวดล้อมของอุตสาหกรรม และสภาวะแวดล้อมด้านการแข่งขัน สภาวะแวดล้อมภายใน คือ ศักยภาพขององค์การ ได้แก่ ด้านการทำหน้าที่ของหน่วยงานตามหน้าที่ต่าง ๆ ภายใน เช่น หน่วยงานด้านการเงิน การตลาด การผลิต การวิจัยและพัฒนาและทรัพยากรมนุษย์ทั้ง 2 องค์ประกอบของสภาวะแวดล้อม ดังกล่าวนี้จะต้องเกิดความสอดคล้องและเหมาะสม (fit) ต่อกัน
Certo and Peter (1988, pp. 30-33) กล่าวถึง สภาพแวดล้อมแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ (1) สภาพแวดล้อมทั่วไป (general environment) เป็นสภาพแวดล้อมภายนอกในขอบเขตที่กว้าง ไม่ได้มีผลกระทบฉับพลันต่อองค์การ ซึ่งการแบ่งสิ่งแวดล้อมระดับนี้ออกเป็น สิ่งแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมายและเทคโนโลยี (2) สภาพแวดล้อมต่อการดำเนินการขององค์การ (the operationing environment) เป็นระดับของสภาพ-แวดล้อมภายนอกที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการองค์การ ซึ่งแบ่งได้เป็นองค์ประกอบด้านลูกค้า ด้านคู่แข่ง ด้านผู้ส่งสินค้าให้ (supplier) และด้านที่เกี่ยวข้องกับการค้ากับต่างประเทศ และ (3) สภาพแวดล้อมภายในองค์การ ซึ่งแบ่งได้เป็น 5 ด้าน คือ ด้านบริหาร องค์การ ด้านบุคลากร ด้านการตลาด ด้านผลิตภัณฑ์ และด้านการเงิน
Pitts and Lei (2000, pp. 28-29) ได้แบ่งสภาพแวดล้อมภายนอกออกเป็น 2 ประเภท เช่นเดียวกัน แต่มีชื่อเรียกประเภทต่างกัน ดังนี้ (1) สภาพแวดล้อมมหภาค (macro environment) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สภาพแวดล้อมทั่วไป (general environment) ได้แก่ พลังผลักดันและสภาวะต่าง ๆ ของสิ่งแวดล้อม ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของทุกบริษัทและ ทุกองค์การในระบบเศรษฐกิจหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สภาพแวดล้อม มหภาคหรือสภาพแวดล้อมทั่วไป (macro or general environment) เป็นปัจจัยขนาดใหญ่ ที่มีอิทธิพลโดยตรงหรือโดยทางอ้อมต่อทุกบริษัทในทุกอุตสาหกรรมซึ่งปกติแล้วบริษัทไม่สามารถควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้มี 5 อย่าง คือ องค์ประกอบประชากร หรือประชากร-ศาสตร์ (demographic) การเมือง (political) สังคม/วัฒนาธรรม (social/cultural) เทคโนโลยี (technological) และกระแสโลกาภิวัตน์ (tide of globalization) และ (2) สภาพแวดล้อมทางด้านการแข่งขัน (competitive environment) บางครั้งเรียก “สภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรม” (industry environment) หรือ “สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับงาน” (task environment) ได้แก่ ปัจจัยที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการแข่งขันกันในอุตสาหกรรม อันได้แก่ ลูกค้า คู่แข่งขัน ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ เป็นต้น
David (2007, p. 12) สรุปว่า การตรวจสอบหรือการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม-ภายนอกจะมุ่งเน้น การระบุและประเมินค่าแนวโน้มที่อยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์การซึ่งจะทำให้พบโอกาสและอุปสรรคที่องค์การเผชิญอยู่พลังผลักดันภายนอกที่สำคัญสามารถแบ่งออกได้ 5 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้ คือ (1) พลังผลักดันทางเศรษฐกิจ (2) พลังผลักดันทางสังคม วัฒนธรรม ประชากรศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม (3) พลังผลักดันทางการเมืองการปกครองและกฎหมาย (4) พลังผลักดันทางเทคโนโลยีและ (5) พลังผลักดันทางการแข่งขัน
Wheelen and Hunger (2008, pp. 10-12) ได้แบ่งสภาพแวดล้อมภายนอกออกเป็น 2 ประเภท คือ (1) สภาพแวดล้อมทางสังคม (societal environment) ได้แก่ พลังกดดันโดยทั่วไปที่ไม่มีผลกระทบต่อกิจกรรมระยะสั้นขององค์การโดยตรง แต่จะมีอิทธิพลหรือมีผลกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินงานระยะยาวขององค์การโดยตรงมี 4 อย่างที่สำคัญคือ สภาวะทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมือง กฎหมาย และสังคมและวัฒนธรรมและ (2) สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับงาน (task environment) ได้แก่ ปัจจัยตัวแปรต่าง ๆ ที่มีผลกระทบหรือถูกกระทบโดยตรงจากการดำเนินงานของบริษัท เช่น รัฐบาล ชุมชน ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ คู่แข่งขัน ลูกค้า เจ้าหนี้ พนักงาน/สหภาพแรงงาน กลุ่มผลประโยชน์ และสมาคมการค้า เป็นต้น สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับงาน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ อุตสาหกรรม (industry) ที่บริษัทดำเนินกิจกรรมอยู่นั่นเอง
การวิเคราะห์ที่ควรนำมาประกอบการศึกษา เพื่อให้รายละเอียดที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การวิเคราะห์ 7’s ของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจที่มีชื่อเสียงมาก McKinsey (อ้างถึงใน ผลิน ภู่เจริญ, 2548) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ตัวเองในแง่มุมเฉพาะสำคัญทางการจัดการที่ทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเป็นการวิเคราะห์ใน 7 ประเด็นหัวข้อด้วยกัน ซึ่งทำให้มองเห็นภาพรวมของทั้งองค์การได้ในรายละเอียดอย่างชัดเจนมากขึ้น ดังนี้ (ผลิน ภู่เจริญ, 2548, หน้า 219-221) (1) โครสร้าง (structure) การวิเคราะห์โครงสร้างองค์การโดยรวม (2) ระบบ (system) ระบบในการดำเนินงานทุกระบบจะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด (3) กลยุทธ์ (strategy) กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจนั้น ทุกองค์การต้องมีอย่างชัดเจน เพื่อให้ทุกฝ่ายมุ่งความสนใจไปที่กลยุทธ์นั้น (4) บุคลากร (staff) มุ่งเน้นไปที่ตัวบุคลากรขององค์การ เพราะทรัพยากรที่สำคัญในการบริหาร คือ ทรัพยากรมนุษย์ (5) ทักษะ (skill) ความสามารถในการทำงานอื่นที่นอกเหนือหน้าที่ (6) สไตล์ (style) รูปแบบในการทำงานและการดำเนินงานและ (7) ค่านิยมร่วม (shared value) คือ สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของทุกคน
โดยสรุป การตรวจสอบวิเคราะห์สภาพแวดล้อม คือ การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์การประกอบด้วยสภาพแวดล้อมภายในองค์การ และสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ ซึ่งสภาพแวดล้อมภายในองค์การจะเป็นปัจจัยที่องค์การสามารถควบคุมได้ ส่วนสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมขององค์การ และยังมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น องค์การจึงต้องมีความสามารถในการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมภายนอกได้ดี จักทำให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์การนั้น


บรรณานุกรม

ธีระ กรใหม่. พลตรี. (2553). การจัดการเชิงกลยุทธ์ของทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สุพานี สฤษฎ์วานิช. (2544). การบริหารเชิงกลยุทธ์: แนวคิดและทฤษฎี. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ผลิน ภู่เจริญ. (2548). การจัดการธุรกิจร่วมสมัย: กรอบแนวคิดใหม่ทางการจัดการในการสร้างและพัฒนาผลผลิตในการแข่งขัน (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เอกพิมพ์ไทย.

เสน่ห์ จุ้ยโต และคนอื่น ๆ. (2548). วิจัยทัศน์. ใน เอกสารการสอนชุดวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์ในภาครัฐ (หน่วยที่ 1-8). นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

David, F. R. (2007). Strategic management: Concepts and cases. Upper Saddle River, NJ: Pearson Prentice Hall.

Pitts, R. A., & Lei, D. (2000). Strategic management building and sustaining competitive advantage. Dallas, TX: Southern Methodist University.

Certo, S. G., & Peter, P. (1988). Strategic management: Concepts and applications. New York: Random House.

Wheelen, T. L., & Hunger, J. D. (2008). Strategic management and business policy (11th ed.). Upper Saddle River, NJ: Pearson Prentice Hall.

0 Responses to "การตรวจสอบวิเคราะห์สภาพแวดล้อม":

บทความที่ได้รับความนิยม