Custom Search

สินค้าคงคลัง (Inventory)

Posted on วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554 by modal

สินค้าคงคลัง (Inventory) เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานของธุรกิจ โดยนับเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดของต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์หลายชนิด นอกจากนั้นการมีสินค้าคงคลังที่เพียงพอยังเป็นการตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าได้ทันเวลา จึงเห็นได้ว่าสินค้าคงคลังมีความสำคัญต่อกิจกรรมหลักของธุรกิจเป็นอย่างมาก การบริหารสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพจึงส่งผลกระทบต่อผลกำไรจากการประกอบการโดยตรงและในปัจจุบันนี้มีการนำเอาระบบคอมพิวเตอร์มาจัดการข้อมูลสินค้าคงคลัง เพื่อให้เกิดความถูกต้อง แม่นยำ และทันเวลามากยิ่งขึ้น
การจัดซื้อสินค้าคงคลังมาในคุณสมบัติที่ตรงตามความต้องการ ปริมาณเพียงพอ ราคาเหมาะสม ทันเวลาที่ต้องการ โดยซื้อจากผู้ขายที่ไว้วางใจได้ และนำส่งยังสถานที่ที่ถูกต้องตามหลักการการจัดซื้อที่ดีที่สุด (Best Buy) เป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารสินค้าคงคลัง

3.1 รูปแบบของสินค้าคงคลัง (Forms of Inventories)

3.1.1 วัตถุดิบ (Raw Material) คือสิ่งของหรือชิ้นส่วนที่ซื้อมาใช้ในการผลิต
3.1.2 งานระหว่างทำ (Work-in-Process) คือชิ้นงานที่อยู่ในขั้นตอนการผลิตหรือรอคอยที่จะผลิตหรือรอคอยที่จะผลิตในขั้นตอนต่อไป โดยที่ยังผ่านกระบวนการผลิตไม่ครบทุกขั้นตอน
3.1.3 วัสดุซ่อมบำรุง (Maintenance/Repair/Operating Supplies) คือชิ้นส่วนหรืออะไหล่เครื่องจักรที่สำรองไว้เผื่อเปลี่ยนเมื่อชิ้นส่วนเดิมเสียหรือหมดอายุการใช้งาน
3.1.4 สินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) คือปัจจัยการผลิตที่ผ่านทุกกระบวนการผลิตครบถ้วนพร้อมที่จะนำไปขายให้ลูกค้าได้

วัตถุประสงค์ของการบริหารสินค้าคงคลัง(Purpose of Inventory Management)

3.2.1 การบริหารสินค้าคงคลังมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 2 ประการใหญ่ คือ
- สามารถมีสินค้าคงคลังบริการลูกค้าในปริมาณที่เพียงพอ และทันต่อความต้องการของลูกค้าเสมอ เพื่อสร้างยอดขายและรักษาระดับของส่วนแบ่งตลาดไว้
- สามารถลดระดับการลงทุนในสินค้าคงคลังต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงด้วย

3.2.2 ประโยชน์ของสินค้าคงคลัง (Benefit of Inventory)
- ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ประมาณการไว้ในแต่ละช่วงเวลา ทั้งในและนอกฤดูกาล โดยธุรกิจต้องเก็บสินค้าคงคลังไว้ในคลังสินค้า
- รักษาการผลิตให้มีอัตราคงที่สม่ำเสมอ เพื่อรักษาระดับการว่าจ้างแรงงาน การเดินเครื่องจักร ฯลฯ ให้สม่ำเสมอได้ โดยจะเก็บสินค้าที่ขายไม่หมดในช่วงขายไม่ดีไว้ขายตอนช่วงขายดีซึ่งช่วงนั้นอาจจะผลิตไม่ทันขาย
- ทำให้ธุรกิจได้ส่วนลดปริมาณจากการจัดซื้อครั้งละมากๆ
- ป้องกันการเปลี่ยนแปลงราคา และผลกระทบจากเงินเฟ้อเมื่อสินค้าในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้น
- ป้องกันของขาดมือด้วยสินค้าเผื่อขาดมือ (Safety Stock) เมื่อเวลารอคอยล่าช้าหรือบังเอิญได้คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นกะทันหัน
- ทำให้กระบวนการผลิตสามารถดำเนินการต่อเนื่องอย่างราบรื่น ไม่มีการหยุดชะงักเพราะของขาดมือจนเกิดความเสียหายแก่กระบวนการผลิตซึ่งจะทำให้คนง่านว่างงาน เครื่องจักรถูกปิด ผลิตไม่ทันคำสั่งของลูกค้า

ต้นทุนของสินค้าคงคลัง (Inventory Costs)

3.3.1 ต้นทุนการสั่งซื้อหรือติดตั้ง (Ordering or Setup Costs) ต้นทุนการสั่งซื้อจะเกี่ยวข้องกับการจัดหาวัตถุดิบ และพัสดุจากภายนอกองค์การขณะที่ต้นทุนการติดตั้ง หรือดำเนินงาน จะเกี่ยวข้องกับต้นทุนการจัดหา และการดำเนินงานภายในระบบ เพื่อให้ระบบการผลิตดำเนินงาน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่เป็นเงิน และเวลา

3.3.2 ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา (Inventory Carrying or Holding Costs) จะมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ต้นทุนของเงิน (Capital Costs), ต้นทุนการจัดเก็บ (Storage Costs) และต้นทุนความเสี่ยง (Risk Costs)

3.3.3 ค่าใช้จ่ายเนื่องจากสินค้าขาดแคลน (Shortage Cost or Stock out Cost) เป็นวัสดุคงคลังที่ขาดมือ เมื่อเกิดความต้องการ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเสียจังหวะในการดำเนินงาน หรือโอกาสในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า

3.3.4 ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Costs) เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยน (Trade-off) ระหว่างการตัดสินใจเลือกที่จะดำเนินการอย่างหนึ่ง กับทางเลือกอย่างอื่น

3.3.5 ต้นทุนสินค้า (Cost of Goods) ในการจัดเก็บเพื่อรอการสั่งซื้อและจัดส่ง

ประโยชน์ของการใช้ระบบมาตรฐาน ISO 9000

Posted on by modal


ประโยชน์ของการใช้ระบบมาตรฐาน ISO 9000
1. ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพขององค์การ โดยการสร้างระบบที่ดีในการควบคุมเอกสารที่สำคัญ และกระบวนการต่างภายในองค์การ และยังเป็นการสร้างจิตสำนึกด้านคุณภาพให้แก่พนักงานทุกคน
2. สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มยอดขายได้
3. ลดค่าใช้จ่ายอันเป็นผลมาจากของเสียในกระบวนการผลิต, ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน เป็นต้น
ในปี ค.ศ. 2000 นี้ มาตรฐานสากล ISO 9000 ได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับเป็น ISO 9000 Version 2000 ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างจากเดิม โดยการมีการรวมมาตรฐานฉบับ ISO 9001, 9002, 9003 ของระบบเดิมเข้ากันเป็น ISO 9001 อย่างเดียวเท่านั้น เพื่อขจัดปัญหาขอบเขตของการใช้ระบบมาตรฐาน ISO 9000 ที่ไม่เท่ากันดังเช่น ระบบเดิม แต่มีการอนุญาตให้เว้นข้อกำหนดที่ไม่ได้ประยุกต์ใช้ในองค์กรทุกขนาดทุกประเภทกิจการ นอกจากนั้นยังปรับปรุงให้มีการใช้คำที่ง่ายขึ้น มีความหมายตรงกันมากขึ้น และประยุกต์ใช้กับ ISO 14000 ได้ง่ายขึ้นด้วย

2.7.4 ISO 14000 เป็นมาตรฐานสากลในการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management Standards)
เพื่อสร้างระบบในการรักษา ควบคุม และปรับปรุงคุณภาพของสิ่งแวดล้อม รวมทั้งป้องกันสุขภาพอนามัยของมนุษย์ โดยมีการวางแผนกำหนดแนวทางเพื่อป้องกันและลดมลพิษที่ต้นเหตุ ISO 14000 มุ่งเน้นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์การธุรกิจ ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาของวัตถุดิบ การออกแบบ การวิจัย และพัฒนาการผลิต การส่งมอบ การนำไปใช้งานตามวัตถุประสงค์ การนำกลับมาใช้ใหม่ การนำกลับมาใช้ซ้ำ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่อันตราย

2.7.5 มอก. 18000 (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย)
เป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในองค์กร โดยพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงอันตรายและอุบัติเหตุต่างๆ ทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดีแก่ธุรกิจในด้านความปลอดภัย สามารถป้องกันชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุได้ สร้างระบบการเตรียมความพร้อมกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน ช่วยลดการจ่ายเงินทดแทนจากอุบัติเหตุ และเพิ่มขวัญกำลังใจแก่พนักงานผู้ปฏิบัติงานในองค์การธุรกิจด้วย


2.7.6 ระบบมาตรฐานอุตสาหกรรมเฉพาะประเภทของอุตสาหกรรม
เนื่องจากอุตสาหกรรมต่างประเภทกันย่อมมีลักษณะการดำเนินงานและจุดสำคัญที่มุ่งเน้นแตกต่างกัน จึงมีการจัดทำระบบมาตรฐาน สากลอื่นเฉพาะประเภทของอุตสาหกรรมอีกดังต่อไปนี้
- การวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม(Hazard Analysis Critical Control Point หรือ HACCP) เป็นซึ่งเป็นระบบการจัดการคุณภาพด้านความปลอดภัยที่ใช้ควบคุมกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้ได้อาหารที่ปราศจากอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ สารเคมีและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เพราะยึดหลักการป้องกันเป็นหลักที่ทำให้ปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค การได้รับการรับรองมาตรฐาน HACCP นี้ จะช่วยสร้างระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในอาหารที่ดีจนสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ส่งเสริมภาพพจน์ขององค์กรธุรกิจและผลิตภัณฑ์ และสามารถพัฒนาไปสู่ระบบมาตรฐานสากล ISO 9000 ได้ดีด้วย
- QS 9000 เป็นระบบคุณภาพที่กลุ่มบริษัทรถยนต์ Chrysler, Ford และ General Motors ได้ร่วมกันกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นมาตรฐานร่วมสำหรับผู้ส่งมอบชิ้นส่วนต่างๆ ให้บริษัททั้งสามนี้ โดยตั้งเป้าหมายชัดเจนที่จะให้มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ป้องกันไม่ให้เกิดของเสีย ลดความผันแปรและความสูญเปล่าต่างๆในสายการผลิตทุกขั้นตอน การใช้ระบบ QS 9000 นี้ต้องได้รับการรับรองตามาตรฐาน ISO 9001 เสียก่อน และต้องเอาใจใส่ในความต้องการของลูกค้าด้วย
- หลักเกณฑ์วิธีการผลิตยาที่ดี (Good Manufacturing Practice หรือ GMP) เป็นแนวทางปฏิบัติในการผลิตยา ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญของระบบการประกันคุณภาพยา เพื่อให้มีความเชื่อมั่นว่า ยาที่ผลิตมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยตรงตามคุณภาพมาตรฐานที่กำหนดและสม่ำเสมอในทุกรุ่นที่มีการผลิต GMP ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยอมรับและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย

Quality Award

Posted on by modal


คุณภาพที่ดีย่อมนำซึ่งความสำเร็จแก่องค์การทั้งทางตรงและทางอ้อม และการบริหารคุณภาพที่ดีนอกจากจะสร้างผลกำไรเชิงเศรษฐกิจให้แก่องค์การธุรกิจแล้ว ยังนำมาซึ่งการได้รางวัลเกียรติยศที่ยอมรับกันในสังคมอีกด้วย รางวัลแห่งคุณภาพที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมี 2 รางวัล ดังต่อไปนี้
2.7.1 รางวัลคุณภาพแห่งชาติมัลคัมบาล์ดริจ (Malcolm Baldrige National Quality Award, MBNQA)
เป็นรางวัลแห่งคุณภาพที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1987 โดยสภาองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา ตามชื่อของเลขาธิการแห่งกระทรวงพาณิชย์ ผู้ซึ่งมีความมุ่งหมายอันแรงกล้าที่จะส่งเสริมคุณภาพเพื่อลดการขาดดุลการค้า และให้รางวัลแก่ผู้ประสบความสำเร็จในการบริหารคุณภาพ โดยแยกประเภทผู้รับรางวัลเป็น 3 จำพวก คือ ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ผู้ให้บริการรายใหญ่ และผู้ผลิตสินค้าหรือบริการขนาดเล็ก รางวัลนี้มีองค์การธุรกิจที่มีชื่อเสียงได้รับหลายองค์การ เช่น Motorola, IBM, Xerox, AT&T, FeDex, Westinghouse ฯลฯ
การพิจารณารางวัลรางวัลคุณภาพแห่งชาติมัลคัมบาล์ดริจจะตัดสินจากปัจจัยดังต่อไปนี้
-ความเป็นผู้นำในด้านการสร้างสรรค์และรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมแห่งคุณภาพ
- ความมีประสิทธิผลในการเก็บและรวบรวมข้อมูลข่าวสารเพื่อพัฒนาและ
วางแผนคุณภาพความมีประสิทธิผลในการรวมเอาความต้องการด้านคุณภาพเข้าสู่กระบวนการวางแผนกลยุทธ์
-ความสำเร็จในการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากแรงงานที่มีอยู่เพื่อปรับปรุงคุณภาพความมีประสิทธิผลของระบบการประกันคุณภาพของบริษัท
- ผลของการปรับปรุงคุณภาพที่แสดงออกในเชิงปริมาณ
- ความพึงพอใจของลูกค้าในการได้รับสิ่งที่เขาต้องการ
รางวัลคุณภาพแห่งชาติมัลคัมบาล์ดริจส่งเสริมการปรับปรุงพัฒนาการบริหารคุณภาพ และสร้างภาพที่เป็นนามธรรมของคุณภาพให้ชัดเจนขึ้นในสายตาของสาธารณชนได้ในที่สุด
2.7.2 รางวัลเดมมิ่ง (Deming Prize)
เป็นรางวัลที่ตั้งชื่อตามปรมาจารย์คนสำคัญด้านคุณภาพคือ Edwards W. Deming ผู้ซึ่งช่วยพัฒนาประเทศญี่ปุ่นหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 จนประสบความสำเร็จเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ซึ่งรางวัลนี้ได้เริ่มต้นประกาศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 โดยสหภาพนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรแห่งประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้เกียรติแก่บริษัทที่มีระบบคุณภาพยอดเยี่ยม รางวัลเดมมิ่งมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการคือ
- เผยแพร่ให้ความรู้และเทคนิคการควบคุมคุณภาพเชิงสถิติ (Statistical Process Control) แก่อุตสาหกรรมญี่ปุ่น
- เพิ่มพูนจิตสำนึกของสาธารณชนให้ตระหนักถึงวัตถุประสงค์ และเทคนิคของการบริหารคุณภาพ
นอกจากนั้น ยังมีการมอบรางวัลเดมมิ่งแก่บุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านการพัฒนาแนวความคิดด้านคุณภาพอีกด้วย

2.7.3 มาตรฐานคุณภาพสากล (Quality certification)
เนื่องจากคุณภาพส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป้นอยู่ทุกคนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค จึงมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์กันอย่างแพร่หลายทุกประเทศ มาตรฐานสากลที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางทั่วโลกมีดังต่อไปนี้ คือ
- มาตรฐานอุตสาหกรรมญี่ปุ่น มาตรฐานสากลของญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกคือ มาตรฐาน JISZ 9000 – 1987 มีหลักการดังต่อไปนี้
เป็นการสนับสนุนการควบคุมคุณภาพอย่างมีประสิทธิผล โดยเริ่มจากให้ความร่วมมือของบุคลากรในองค์การ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง ผู้บริหารระดับต้น ตลอดจนพนักงานทุกคน ในการดำเนินกิจกรรมทุกอย่างขององค์การอันได้แก่ การวิจัยการตลาด การวิจัยและการพัฒนา การวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเตรียมการผลิต การจัดซื้อ การจัดการด้านผู้ขาย การผลิต การตรวจสอบ การขายและการบริการหลังการขาย การควบคุมทางการเงิน การบริหารบุคลากร การอบรมและให้การศึกษาแก่พนักงาน
- มาตรฐานอเมริกัน มาตรฐานสากลของสหรัฐอเมริกาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ Military Standard 414 (MIL.STD.414) ซึ่งพัฒนาโดยกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ และ ANSI/ASQC ZI.9 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้ในทางพลเรือนและอุตสาหกรรม แต่ในปัจจุบันมาตรฐานคุณภาพของสหรัฐอเมริกาพัฒนาในแนวทางเดียวกับกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เป็นระบบคุณภาพ Q90 ซึ่งมีอนุกรมมาตรฐาน ดังต่อไปนี้
Q91 เป็นมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการออกแบบ การพัฒนา การผลิต การติดตั้ง และการบริการของสินค้าและบริการ
Q92 เป็นส่วนที่เพิ่มเติมรายละเอียดจาก Q91 ในส่วนของการผลิต การติดตั้ง และการบริการ
Q93 เป็นส่วนที่เพิ่มเติมรายละเอียดจาก Q91 ในส่วนของการตรวจสอบ ทดสอบ การกระจายสินค้า และการรับช่วงสัญญาณ (Value – added Contractor)
Q94 เป็นแนวทางหลักในการจัดการและสอบทานระบบการควบคุมคุณภาพ
- มาตรฐานสากลของกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นที่นิยมใช้แพร่หลายกันทั่วโลก จัดทำขึ้นโดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการกำหนดมาตรฐาน (International Organization for Standardization) เพื่อรวบรวมมาตรฐานสากลต่างๆ จัดทำให้เป็นมาตรฐานที่เท่าเทียมกันและเผยแพร่มาตรฐานสากล ISO 9000
มาตรฐาน ISO 9000 เป็นมาตรฐานระดับโลกเพื่อเป็นแนวทางเกี่ยวกับคุณภาพให้องค์การธุรกิจหรือผู้ส่งมอบและผู้ซื้อนำไปปฏิบัติ โดยจะกำหนดสิ่งที่จำเป็นต้องมีในระบบคุณภาพ และใช้บรรทัดฐาน ซึ่งสามารถนำไปใช้กับอุตสาหกรรมทุกขนาด ISO 9000 เป็นข้อปฏิบัติที่ใช้กับทุกคนในการทำงาน ซึ่งจะทำให้สามารถเรียนรู้งานที่ทำได้ดียิ่งขึ้น และเกิดความมั่นใจว่าทำงานได้อย่างถูกต้องตรงตามจุดมุ่งหมายไว้รายละเอียดในอนุกรมมาตรฐาน สากล ISO 9000

การควบคุมคุณภาพโดยรวม (Total Quality Control)

Posted on by modal

เป็นระบบที่รวบรวมเอาความพยายามในการพัฒนาคุณภาพ การรักษาคุณภาพ และการปรับปรุงคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพของทุกคนในองค์การโดยทำการร่วมมือกันในการจัดการการตลาด วิศวกรรมการผลิต และการบริการ ซึ่งจะทำให้องค์การสามารถดำเนินการด้วยต้นทุนที่ต่ำ และสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าได้โดยมีเป้าหมายในเชิงปฏิบัติให้มีร้อยละของของเสียเป็นศูนย์ คือคุณภาพสมบูรณ์แบบไม่มีของเสียอยู่เลยโดยมีแนวทางในการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
2.6.1 มอบหมายให้ความรับผิดชอบในการควบคุมคุณภาพเป็นของฝ่ายผลิต และลดความรับผิดชอบของฝ่ายควบคุมคุณภาพลง โดยให้ฝ่ายผลิตเป็นผู้ตรวจสอบคุณภาพในระหว่างการทำการผลิตเอง
2.6.2 แสดงออกถึงการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความประทับใจต่อทุกคนที่มีโอกาสมาเห็นระบบการทำงาน และสร้างวัฒนธรรมแห่งคุณภาพขึ้นในใจของทุกคนในองค์การ
2.6.3 มอบอำนาจให้คนงานสามารถหยุดสายาการผลิตเมื่อเกิดความบกพร่องด้านคุณภาพ ซึ่งเรียกว่า Jidoka เพื่อจะให้ทำการแก้ไขปัญหาของสายงานนั้นจนเรียบร้อย โดยไม่กังวลว่าจะเกิดความล่าช้าในการผลิตบางแห่งอาจใช้เครื่องมือที่เรียกว่า บาคาโยเค (Pokayoke) เพื่อตรวจสอบหาสิ่งผิดปกติในกระบวนการผลิตอย่างอัตโนมัติ ซึ่งอาจใช้หยุดการทำงานของเครื่องจักรได้ด้วยในบางกรณี
2.6.4 แก้ไขของเสียโดยฝ่ายผลิตต้องนำเอาของเสียกลับไปทำใหม่ในสายการผลิต เพื่อให้คนงานมีความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในเรื่องคุณภาพ ไม่ได้ผลักภาระให้ฝ่ายตรวจสอบแก้ไขอย่างเช่นโรงงานของชาวตะวันตก ซึ่งวิธีการควบคุมคุณภาพการผลิตให้เป็นไปตามลักษณะนี้ต้องทำการผลิตครั้งละน้อยชิ้นจึงสามารถพิถีพิถันกับคุณภาพได้
2.6.5 ตรวจสอบคุณภาพของของทุกชิ้น โดยไม่มีการสุ่มตัวอย่าง แต่ถ้ามีผลผลิตต่อครั้งมากเกินกว่าที่จะทำเช่นนั้นได้อาจใช้วิธีการตรวจสอบโดยใช้จำนวนตัวอย่างเป็นสอง คือ ตรวจสอบชิ้นแรกและชิ้นสุดท้าย และถือว่าถ้าทั้งสองชิ้นนี้ผ่านการทดสอบ แสดงว่าทุกชิ้นก็ผ่านการทดสอบ
2.6.6 อบรมฝึกฝนคนงานให้ใส่ใจเรื่องคุณภาพ จัดให้มีการใช้กลุ่มคุณภาพกลุ่มคุณภาพค้นหาปัญหาแล้วระดมสมองจากสมาชิกในกลุ่มให้ช่วยกันหาทางแก้ไขปรับปรุงให้คุณภาพของงานดีขึ้น
2.6.7 ลดบทบาทและจำนวนของฝ่ายควบคุมคุณภาพ ให้ฝ่ายควบคุมคุณภาพเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษากำจัดสาเหตุที่ทำให้ชิ้นงานเสียหาย ตรวจสอบการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน ร่วมมือกับฝ่ายจัดซื้อในการออกไปเยี่ยมโรงงานของผู้ขาย ตรวจสอบผู้ขายที่ผลิตวัตถุดิบส่งเข้าโรงงานและประสานงานฝึกอบรมเรื่องการควบคุมคุณภาพ รวมทั้งช่วยตรวจรับของจากผู้ขายรายใหม่บ้าง
2.6.8 สร้างระเบียบในโรงงานและรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด ด้วยการทำกิจกรรม
5 ส. เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกเกี่ยวกับคุณภาพมากขึ้น
2.6.9 กำหนดขนาดการผลิตต่ำกว่ากำลังการผลิตเต็มที่ที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณการผลิตต่อวันที่วางแผนไว้เป็นจริงได้ง่ายขึ้น เพราะการผลิตจะมีความยืดหยุ่นกว่าถ้าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นและคนงานต้องหยุดการผลิตมาแก้ไข ในสภาวะที่ไม่เร่งรีบเกินไปเช่นนี้จะทำให้คนงานทำงานให้คุณภาพสมบูรณ์แบบอย่างเต็มอกเต็มใจยิ่งขึ้น
2.6.10 ใช้หลักการบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์แบบการบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม (Total Productive Maintenance หรือ TPM) โดยผู้ใช้เครื่องมือช่วยดูแลรักษาเบื้องต้น โดยไม่ปล่อยให้เป็นภาระของฝ่ายบำรุงรักษาซ่อมแซมแต่ฝ่ายเดียว เพราะอุปกรณ์ที่ชำรุดบกพร่องย่อมจะส่งผลถึงคุณภาพของการผลิตด้วย

Quality Management

Posted on by modal

จากความหมายของคำว่าคุณภาพมาสู่แนวทางการดำเนินการเพื่อคุณภาพที่ดีนั้นได้มีคำหลายคำที่ใช้ในการบ่งบอกถึงการปฏิบัติการเกี่ยวกับคุณภาพ เช่น ระบบคุณภาพ การควบคุมคุณภาพ การประกันคุณภาพ หรือ การบริหารงานคุณภาพ ฯลฯ ซึงมีความหมายแตกต่างกันดังต่อไปนี้
2.4.1 การควบคุมคุณภาพ (Quality Control หรือ QC) หมายถึง กิจกรรมและกลวิธีการปฏิบัติเพื่อสนองความต้องการด้านคุณภาพภายในธุรกิจ โดยการตรวจสอบ การวัด และการทดสอบที่มุ่งจะควบคุมวัตถุดิบ กระบวนการ และการกำจัดสาเหตุของข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการทั้งหมด เช่น การสุ่มตัวอย่างน้ำผลไม้กระป๋องมาตรวจสอบรสชาติ
การควบคุมคุณภาพเน้นการตรวจสอบและแยกแยะของดีและของเสียออกจากกัน โดยระบุเป็นร้อยละของของเสียที่พบจากล็อตการผลิต เพื่อควบคุมมิให้ของเสียมีมากเกินกว่าที่กำหนดและในปัจจุบันการควบคุมคุณภาพมุ่งเน้นที่ของเสียต้องเป็นศูนย์ (Zero Defect)
2.4.2 การประกันคุณภาพ (Quality Assurance หรือ QA) หมายถึง การดำเนินการเพื่อสุขภาพตามระบบและแผนงานที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการมีคุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการ เช่น การดำเนินงานตามมาตรฐานคุณภาพสากล ISO 9000
2.4.3 การบริหารคุณภาพ (Quality Management หรือ QM) หมายถึง การจัดการระบบคุณภาพโดยทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์การรับผิดชอบต่องานที่ตนเองกระทำอย่างเต็มที่เพื่อให้สินค้าและบริการเป็นไปตามต้องการของลูกค้า เช่น การใช้ระบบการบริหารคุณภาพสมบูรณ์แบบ (Total Quality Management หรือ TQM)
วัตถุประสงค์หลักของการบริการคุณภาพ คือ การผลิตสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งความต้องการของลูกค้าจะเป็นกรอบกำหนดระบบคุณภาพขององค์การทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นการบริหารคุณภาพจะมุ่งสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าเป็นสำคัญ

บทความที่ได้รับความนิยม