Custom Search

เงินฝืด (deflation)

Posted on วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554 by modal

เงินฝืด หมายถึง สถานการณ์ตรงข้ามกับเงินเฟ้อ นั่นคือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปลดลงเรื่อย ๆ นี่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าทุกชนิดจะต้องลงราคาและในสัดส่วนเดียวกัน อาจเป็นไปได้ว่าสินค้าบางชนิดมีราคาสูงขึ้น แต่เมื่อรวมราคาสินค้าทุกชนิดแล้ว คือราคาถัวเฉลี่ยจะลดลงจากเดิม

ประเภทเงินฝืด แบ่งเป็น
1. เงินฝืดอย่างอ่อน เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ราคาสินค้าในตลาดทั่วไปจะลดลงเล็กน้อย
2. เงินฝืดอย่างปานกลาง มีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจแต่ไม่รุนแรง ระดับราคาสินค้าทั่วไปในตลาดจะลดลงมากกว่าเงินฝืดอย่างอ่อน
3. เงินฝืดอย่างรุนแรง

สาเหตุของภาวะเงินฝืด
1. ธนาคารกลางพิมพ์ธนบัตรออกมาหมุนเวียนในตลาดน้อยเกินไป แต่อุปสงค์มีมาก
2. ประชาชนนิยมเก็บเงินไว้กับตัวมากเกินไป
3. การส่งเงินตราออกนอกประเทศมากเกินไป
4. นโยบายธนาคารกลางออกกฎหมายเรียกเก็บเงินสำรองตามกฎหมายจากธนาคารพาณิชย์มากเกินไป จนไม่มีเงินที่จะสร้างเงินฝากหรือขยายเครดิต
5. นโยบายของธนาคารพาณิชย์ไม่ขยายเครดิต ให้กู้ยืมสำหรับการลงทุนทั้งระยะสั้น ระยะยาว
6. รัฐบาลควบคุมการซื้อสินค้าเงินผ่อน
7. รัฐบาลเปลี่ยนแปลงเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น ทำให้รายได้ประชาชนลดลง เงินใช้สอยลดลง
8. อัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศค่อนข้างสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ประสบปัญหาในการกู้ยืมมาขยายเครดิต จำเป็นต้องกู้ยืมจากธนาคารกลาง
9. เงินฝืดมักจะเป็นผลพวงมาจากภาวะฟองสบู่แตก ทำให้เกิดปัญหาเกิดหนี้เสีย และความเชื่อมั่นต่อการลงทุนลดน้อยลง ทำให้ภาคการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินค้าเชื่อมากขึ้น

ผลกระทบของภาวะเงินฝืด กลุ่มผู้ได้ประโยชน์จากภาวะเงินฝืดได้แก่
1. ผู้มีรายได้ประจำ เช่น พนักงานเงินเดือน ข้าราชการเกษียณได้รับบำนาญ
2. ผู้ที่มีรายได้จากดอกเบี้ย หุ้นกู้ ผู้ถือหุ้น ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้
3. ผู้ที่เก็บเงินไว้กับตัวเอง
4. ผู้มีรายได้จากค่าเช่า ผู้เช่าก็ต้องจ่ายในราคาเท่าเดิม เพราะได้ทำสัญญาผูกมัดแล้ว

กลุ่มผู้เสียประโยชน์จากภาวะเงินฝืด ได้แก่
1. เจ้าของกิจการ นายจ้าง ผู้ผลิตสินค้า นักอุตสาหกรรม เมื่อระดับราคาสินค้าที่ผลิตออกมามีราคาลดต่ำลงเรื่อย ๆ แต่ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนในการผลิตสูง ผู้ผลิตจะไม่ทำการผลิตอีกต่อไป หรืออาจจะลดการผลิตออกมาให้น้อยลง
2. พ่อค้า นักธุรกิจ เมื่อการผลิตชะลอตัวลง และหยุดชะงักการผลิต พ่อค้า นักธุรกิจ ก็ต้องขาดรายได้ คือ กำไร ตามไปด้วย
3. ลูกหนี้ ขณะที่ทำสัญญาขอกู้ยืมเงินมูลค่าของเงินคงที่ แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืด มูลค่าของเงินมีค่ามากขึ้น และการทำมาหากินฝืดเคือง รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เงินหายากขึ้น แต่ต้องชำระหนี้ในมูลค่าเท่าเดิม
4. ผู้เช่า เมื่อการผลิตชะลอตัวลง และลดต่ำลงเรื่อย ๆ ราคาสินค้าก็ลดลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รายได้ที่รับเข้ามาก็ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ผู้เช่าก็ต้องจ่ายเงินให้กับผู้ให้เช่าในราคาเท่าเดิม ไม่ได้ลดไปตามราคาสินค้า
5. ผู้รับค่าจ้างรายวัน
6. ผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่สามารถกำหนดได้ว่าแต่ละวันจะมีรายได้เท่าไร บางวันมีรายได้น้อยบางวันมีรายได้มาก และบางวันไม่มีรายได้เลย เช่น ผู้ที่รับจ้างทั่ว ๆ ไปไม่มีหลักแหล่ง

การแก้ไขภาวะเงินฝืด

1.ใช้นโยบายทางการเงิน ได้แก่
1.1 ธนาคารกลางจะต้องพิมพ์ธนบัตรออก มาหมุนเวียนในตลาดให้สอดคล้องกับปริมาณของอุปสงค์และอุปทาน
1.2 ธนาคารจะต้องลดอัตราเงินสดสำรองตามกฏหมายแก่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อที่จะทำให้มีการขยายเครดิตเพิ่มขึ้น
1.3 ประกาศควบคุมกำหนดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าประเภทจำเป็น เช่น ข้าว เนื้อสัตว์น้ำมัน การขนส่ง ฯลฯ

2.ใช้นโยบายทางการคลัง ได้แก่
2.1 รัฐบาลจะต้องกระจายรายได้ไปสู่ชนบท ทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการลงทุนให้ชนบท เช่น จัดให้มีโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) โดยเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 ใช้งบประมาณปีละ 3,500 ล้านบาท ส่งผลให้ประชาชนในชนบทมีงานทำมากเพิ่มขึ้นมีแหล่งน้ำ มีถนน ทำให้เพิ่มผลผลิตตามไปด้วย
2.2 งบประมาณรายจ่ายรายจ่ายของรัฐบาลจะต้องจ่ายให้มีสภาพคล่องตัวยิ่งขึ้น จะทำให้เงินหมุนเวียนในตลาดรวดเร็วขึ้น เช่น รัฐบาลจ้างทำของ (ถนน เขื่อนกั้นน้ำ ชลประทาน ฯลฯ) สั่งซื้อสินค้า เมื่อธุรกิจได้รับเงินของทางรัฐบาล จะทำให้เกิดการสร้างงานต่อไป
2.3 ขอกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ ดอกเบี้ยถูกจ่ายคืนในระยะยาว มาลงทุนในโครงการที่ช่วยพัฒนาประเทศและสามารถให้ผลประโยชน์ตอบแทนได้
2.4 ประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศมาลงทุน โดยมีระยะปลอดภาษีและให้ความสะดวกทุกประการ
2.5 ลดอัตราภาษีของรายได้บุคคลของประชาชน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น การใช้จ่ายก็มีมากขึ้นตามลำดับ
2.6 ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ นำขึ้นมาใช้ เช่น แก๊สธรรมชาติ เท่ากับเป็นการสร้างงาน ทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวทำให้ภาวะเงินฝืดเบาบางลง
2.7 ส่งเสริมผลผลิตทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรมออกสู่ต่างประเทศ โดยใช้การตลาดเป็นแกนนำ ทำให้เงินตราไหลเข้าสู่ประเทศมากขึ้น

เงินเฟ้อ (inflation)

Posted on by modal

เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ (rising prices) => ดัชนีราคาผู้บริโภค (consumer price index) "เงินเฟ้อที่ถูกกดดัน" (suppressed inflation) เป็นเงินเฟ้อที่มักจะพบบ่อยในเวลาเกิดสงคราม หรือเกิดขาดแคลนสินค้าอย่างรุนแรง

ประเภทของอัตราเงินเฟ้อ

ตามหลักวิชาการจะแบ่งอัตราเงินเฟ้อเป็น 3 ประเภท คือ
1. เงินเฟ้ออย่างอ่อน คือ อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติและไม่มีผลเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทางด้านการลงทุน การผลิต การจ้างงาน และรายได้ประชาชาติ
2. เงินเฟ้อปานกลาง คือ อัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเกินร้อยละ 5 ~ 20 % รัฐบาลจะยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไขโดยใช้มาตรการทางการเงินและการคลัง
3. เงินเฟ้ออย่างรุนแรง คือ การที่ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นไปอย่างกว้างขวางโดยระดับราคาจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 20 % ต่อปี ทำให้อำนาจการซื้อของเงินลดลงอย่างรวดเร็วมาก อย่างเช่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเยอรมัน จีนและประเทศไทย ได้พิมพ์ธนบัตรออกใช้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด จึงเกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรง

สาเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ มาจากการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์มวลรวม (aggregate demand) และอุปทานมวลรวม (aggregate supply) ซึ่งพอจะจำแนกได้ 3 ประการใหญ่ ๆ ดังนี้
1. เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น (demand pull inflation)
2. เงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนสูงขึ้น (cost-push inflation)
3. เงินเฟ้อที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้าง (structural inflation)

1. เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น (demand pull inflation) คือการปริมาณสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงพอตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นในอุปสงค์มวลรวม
สาเหตุที่ทำให้อุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น
1.1 การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนการผลิตสินค้าไม่ทันกับความต้องการ
1.2 การใช้จ่ายของภาครัฐบาลเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
1.3 การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น
1.4 ความต้องการสินค้าจากประเทศของเราของชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้น
ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์มวลรวมต่อสินค้าและบริการทุกชนิดได้มีผลทำให้ระดับราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็จริง แต่การสูงขึ้นของราคาดังกล่าวเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตทำการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อหวังจะได้กำไรเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามมาในเวลาต่อมา และช่วยบรรเทาการสูงขึ้นของระดับราคาไม่ให้มากนักได้

2. เงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนสูงขึ้น (cost-push inflation)
สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ประการคือ
1.1 การเรียกร้องค่าจ้างแรงงานเพิ่มของปัจจัยแรงงาน (wage-push inflation)
1.2 เงินเฟ้อที่เกิดจากการเพิ่มกำไรของผู้ผลิต
1.3 เงินเฟ้อที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง(structural inflation)
กรณีที่ประเทศเกิดภาวะสงคราม ทำให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายเงินในการสงครามและจำกัดขอบเขตการบริโภคของประชาชนทั่วไป เพื่อนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้การผลิตอาวุธ ในช่วงสงคราม

ผลกระทบของเงินเฟ้อ
1. ผลต่อความต้องการถือเงิน ภาวะเงินเฟ้อจะทำให้ค่าของเงินลดลง เพราะเมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น เงินเท่าเดิมจะซื้อของได้น้อยลง
2. ผลกระทบต่อรัฐบาล รัฐบาลมักจะได้รับประโยชน์จากภาวะเงินเฟ้อ นั่นคือ ภาวะเงินเฟ้อจะทำให้ประชาชนมีรายได้ที่เป็นตัวเงินเพิ่มสูงขึ้น ถ้ารัฐเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ส่วนทางด้านรายจ่ายของรัฐนั้นถ้าเป็นจำนวนที่คงที่ เช่น เงินเดือน บำนาญ เงินสงเคราะห์ต่าง ๆ รัฐก็จะได้ประโยชน์เพราะเงินนั้นมีค่าน้อยลง
3. ผลที่มีต่อการกระจายรายได้ เมื่อเกิดเงินเฟ้อจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในการกระจายรายได้ของบุคคล เช่น
1) ผู้มีรายได้เป็นจำนวนเงินคงที่ตายตัวหรือรายได้ประจำจะเสียเปรียบ เพราะค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะสูงขึ้น เนื่องจากสินค้าแพงขึ้น แต่รายได้ที่เป็นตัวเงินยังคง
2) ลูกหนี้จะได้เปรียบในขณะที่เจ้าหนี้
3) ผู้ถือทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินแน่นอน เช่น เงินสด เงินฝากประจำ หุ้นกู้ พันธบัตรจะเสียเปรียบ เพราะเงินลดค่าลง

การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ทำได้โดยดูว่าภาวะเงินเฟ้อเกิดจากสาเหตุใด

ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้น ทำได้โดยลดอุปสงค์มวลรวมโดย
1. ลดค่าใช้จ่ายการบริโภคส่วนบุคคล (consumption expenditure)
2. ใช้นโยบายทางการเงินโดยภาครัฐ กล่าวคือ ลดปริมาณเงินโดยการออกพันธบัตร เพื่อชักจูงให้ประชาชนหันมาสนใจออมเงินมากกว่าที่จะใช้จ่ายเงิน
3. ใช้นโยบายการคลังโดยภาครัฐ กล่าวคือใช้มาตรการทางด้านภาษี การเก็บภาษีมากขึ้นจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดน้อยลงและรัฐบาลจะต้องลดค่าใช้จ่ายลง
4. ลดค่าใช้จ่ายการลงทุน (investment expenditure)
5. การควบคุมระดับราคาโดยตรง (price control) โดยภาครัฐบาลกำหนดราคาสินค้าและบริการไว้แน่นอน

เงินตึงตัว (tight money)

Posted on by modal

เงินตึงตัว คือ สถานการณ์ที่มีปริมาณเงินหมุนเวียนในท้องตลาดน้อยมาก ในขณะที่มีความต้องการเงินกู้ยืมสูง ในสถานการณ์เช่นนี้ อัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการขยายตัวของการลงทุนและการผลิตกลับลดต่ำลง เป็นสภาพที่เงินหายาก เงินที่มีอยู่ในตลาดมีน้อยไม่พอกับความต้องการของประชาชน ภาวะเงินตึงในระบบธนาคารพาณิชย์ นับว่าเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้น ในปี 2522 ซึ่งแท้จริงแล้วเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ปี 2521 ดังจะเห็นได้จากอัตราส่วนระหว่างเงินให้กู้ยืม กับเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในปี 2521 อยู่ในเกณฑ์สูงสุดในประวัติศาสตร์การเงินไทย กระทั่งก่อให้เกิดปัญหาภาวะเงินตึงที่ร้ายแรงในปี 2522

สาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะเงินตึงตัว สามารถแบ่งได้เป็น 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ

1. ด้านอุปทาน ประกอบด้วย
1.1 การลดลงของอัตราการออม (saving ratio) โดยอัตราส่วนระหว่างการออมกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง ซึ่งทำให้ปริมาณเงินออมเข้าสู่ตลาดการเงินทั้งในระบบและนอกระบบ เพิ่มขึ้นในอัตราลดลงก่อให้เกิดปัญหาภาวะเงินตึงตัวในระบบ เนื่องจากการปริมาณเงินที่จัดสรรให้กู้แก่ธุรกิจเอกชนมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้การที่อัตราการออมมีแนวโน้มลดลงก็เป็นเพราะปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา โดยในช่วงปี 2515-2521อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีการคาดกันว่าปัญหาเงินเฟ้อยังคงมีต่อไปรายจ่ายในการบริโภคก็จะเพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้กระทั่งทำให้อัตราการออมมีแนวโน้มลดลง
1.2 การเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ในอัตราที่ลดลง สืบเนื่องจากอัตราส่วนระหว่างการออมกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว เงินออมโดยสมัครใจของประชาชนส่วนที่เคลื่อนสู่ตลาดการเงินจึงมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ด้วย นอกจากนี้การเกิดปัญหาเงินเฟ้อในช่วงปี 2520-2522 ได้ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงมีค่าติดลบติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้การเคลื่อนย้ายเงินออมออกสู่ตลาดเงินนอกระบบมากขึ้น
1.3 การเพิ่มขึ้นของการออมที่ถูกบังคับ (forced savings) ซึ่งได้แก่ ภาษีอากรที่รัฐบาลเรียกเก็บจากประชาชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนับแต่ปี 2519 เป็นต้นมา สืบเนื่องมาจากการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐบาลทำให้มีการเร่งรัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ กรณีดังกล่าวมีส่วนทำให้เงินออมโดยสมัครใจของประชาชนลดน้อยลง ส่งผลให้เงินออมส่วนที่เคลื่อนย้ายสู่ตลาดการเงิน ทั้งในระบบและนอกระบบลดลงกว่าที่ควรจะเป็น
1.4 การลักลอบนำเงินออกประเทศ สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในอินโดจีนตั้งแต่ปี 2522 ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทย ทำให้มีการนำเงินออกนอกประเทศในรูปแบบต่าง ๆ มากเป็นเหตุให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบมีน้อยกว่าที่ควร
1.5 การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ การที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศก่อให้เกิดเงินทุนไหลออก เพื่อหาประโยชน์จากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศ นอกจากนี้ทางด้านสถาบันการเงินภายในประเทศ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ซึ่งนิยมกู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนค่อนข้างสูง เพื่อนำมาจัดสรรให้กู้แก่เอกชนภายในประเทศก็ชะลอการกู้ลง กรณีดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจไทย
1.6 วิกฤตการณ์ราชาเงินทุน ซึ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในสถาบันการเงินจึงหันไปถือเงินออมในรูปของสินทรัพย์ถาวร และหรือ เพิ่มการใช้จ่ายในการบริโภคมากขึ้นรวมทั้งโยกย้ายเงินออมจากตลาดเงินในระบบไปสู่ตลาดการเงินนอกระบบ

2. ด้านอุปสงค์ ประกอบด้วย
2.1 ภาวะเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การที่ระบบเศรษฐกิจต้องประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะนับแต่ปี 2520 เป็นต้นมานั้น ย่อมทำให้รายจ่ายในการอุปโภคบริโภคของประชาชนเพิ่มขึ้น และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีกหากประชาชนคาดการณ์ว่าภาวะเงินเฟ้อจะมีมากยิ่งขึ้นในอนาคต ขณะที่ระดับการผลิตในภาคเกษตรกรรมถูกกำหนดโดยปัจจัยทางด้านอุปทาน แต่ระดับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมถูกกำหนดโดยปัจจัยทางด้านอุปสงค์ ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ ประกอบกับแรงกดดันของอุปสงค์จากต่างประเทศได้มีผลให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ซึ่งการเพิ่มของอุปสงค์ในการอุปโภคบริโภคและการขยายการผลิตในภาคอุตสาหกรรมล้วนมีผลให้อุปสงค์ในการใช้เงินเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง
2.2 การกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไร โดยปกติในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ย่อมเป็นสิ่งจูงใจให้พ่อค้านายทุนกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไรซึ่งเป็นผลให้อุปสงค์ในการใช้เงินมีมากขึ้น
2.3 การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ดังกล่าวในข้อ 1.5 นั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีน้อยกว่าที่ควรเท่านั้น แต่ยังมีผลให้อุปสงค์ในการใช้เงินในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ควรอีกด้วย เพราะธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เคยอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินในต่างประเทศต่ำกว่าภายในประเทศก็จะหันมากู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ ทำให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในประเทศลดน้อยลง

ส่วนการแก้ไขภาวะเงินตึงตัวมีดังนี้
1. การเปิดตลาดซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล เพื่อช่วยถ่ายเทเงินสดจากธนาคารพาณิชย์ที่มีเงินสดสำรองส่วนเกินมากไปสู่ธนาคารที่มีปัญหาสภาพคล่อง
2. การยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินกู้จากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยผ่อนคลายปัญหาภาวะเงินตึง
3. การลดอัตราส่วนระหว่างเงินสดสำรองกับยอดเงินฝาก เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถขยายสินเชื่อได้มากขึ้น
4. การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์
5. การแก้ปัญหาสภาพคล่องของบริษัทเงินทุน
6. การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
7. ยกเลิกการควบคุมอัตราดอกเบี้ยสูงสุด

ภาวะทางการเงิน ทั้งสามนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในการครองชีพของทุกคน ถ้าเราได้ทำความเข้าใจไว้ก็จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนดำเนินชีวิตของเราในเรื่องค่าใช้จ่ายต่อไป

ผลตอบแทนและความเสี่ยง

Posted on by modal

ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้อาจจะไม่สูงมากหรือหวือหวา โดยขึ้นอยู่กับประเภทตราสารหนี้ที่ไปลงทุน สำหรับความเสี่ยงของกองทุนรวมตราสารหนี้ย่อมต่ำกว่ากองทุนรวมตราสารทุน โดยกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายลงทุนแตกต่างกันก็จะมีระดับความเสี่ยงต่างกันด้วย ซึ่งความเสี่ยงสำคัญ ๆ ของกองทุนรวมตราสารหนี้มีดังนี้

1. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในตลาด (interest rate risk) ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา รวมทั้งผลตอบแทนจากตราสารหนี้ โดยเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ราคาตราสารหนี้ที่อยู่ในกองทุนจะปรับตัวลดลง ซึ่งเมื่อคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทุกสิ้นวันแล้ว กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ก็จะมี NAV ลดลง

ดังนั้น หากผู้ลงทุนที่ไม่อยากรับความเสี่ยงในเรื่องนี้มากเกินไป ก็อาจพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้แบบกองปิด ซึ่งมีกลยุทธ์การลงทุนเพียงครั้งเดียวแล้วถือจนครบอายุตราสาร (buy and hold) หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือสั้น ๆ เพราะมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดไม่มากนัก

2. ความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ที่ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขหรือข้อผูกผันที่มีอยู่ (credit risk) เช่น ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้ตามจำนวนเงินหรือตามเวลาที่กำหนด (หุ้นกู้ default) อย่างไรก็ดี ตามเกณฑ์ ก.ล.ต. กองทุนรวมตราสารหนี้จะสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุน (non-investment grade) หรือที่เรียกกันว่า junk bond ได้ไม่เกิน 15% ของ NAV เพื่อเป็นการจำกัดความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับหนึ่งสำหรับกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่รัฐบาลออก อาจถือได้ว่าความเสี่ยงด้านเครดิตน้อยมาก แต่ก็อย่าลืมว่ากองทุนรวมพันธบัตรนั้นยังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสาร จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดอยู่

3. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) คือการที่ผู้ลงทุนอาจไม่สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมได้ตามที่ต้องการ หากลงทุนในกองทุนปิด หรือกองทุนเปิดที่เปิดให้ซื้อขายได้บางเวลา เช่น เพียงเดือนละครั้ง ดังนั้น ผู้ลงทุนที่ต้องการสภาพคล่องสูงก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ที่เปิดให้ซื้อขายได้ทุก ๆ วัน เพราะกองทุนรวมประเภทนี้จะมีการเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนอยู่แล้ว

4. ความเสี่ยงอื่น ๆ ปัจจัยความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อกองทุนรวมตราสารหนี้ เช่น กองทุนรวมที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศก็จะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาวะทางการเมืองหรือเศรษฐกิจในประเทศที่ไปลงทุน ความเสี่ยงด้าน country risk รวมทั้งความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (foreign exchange risk) ด้วย

นโยบายกองทุนรวมตราสารหนี้

Posted on by modal

กองทุนรวมตราสารหนี้ คืออะไร?
กองทุนรวมตราสารหนี้เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก ทั้งตราสารหนี้ภาครัฐเช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ซึ่งเป็นได้ทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) และตราสารหนี้ระยะยาว

นโยบาย
มีนโยบายหลากหลาย เช่น อาจเน้นลงทุนในพันธบัตร (ซึ่งมักจะตั้งชื่อกองโดยใส่คำว่าพันธบัตรเข้าไปด้วย) ซึ่งอาจจะเน้นเป็นพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หรือตั๋วเงินคลัง โดยอาจเป็นพันธบัตรต่างประเทศก็ได้ หรือเน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน

นอกจากนี้ นโยบายยังแบ่งได้ตามกลยุทธ์ที่ผู้จัดการกองทุนใช้ในการบริหาร โดยอาจแบ่งได้เป็น บริหารแบบเชิงรุก (actively managed fund) ที่มุ่งเอาชนะผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิง (benchmark) ซึ่งได้แก่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ที่มีอายุ ใกล้เคียงกับอายุของตราสารที่กองทุนลงทุน และ บริหารแบบเชิงรับ (passively managed fund) ที่ลงทุนในตราสารและสัดส่วนที่เลียนแบบองค์ประกอบของพอร์ตดัชนีอ้างอิง (benchmark portfolio) เพื่อมุ่งสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง เช่น "กองทุนรวมดัชนีตราสารหนี้ (Bond-Index fund)" และ "กองทุนรวม ETF--Exchange Traded Fund ตราสารหนี้"

กองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นแบบ "กองทุนปิด" จะมีการกำหนดอายุโครงการไว้แน่นอนโดยมีการเสนอขายครั้งเดียวและไม่รับซื้อคืนก่อนครบอายุ บลจ. จะคืนเงินลงทุนให้ตามมูลค่ากองทุนรวม ณ วันที่ครบอายุ ซึ่งการที่ล็อกเงินไว้เป็นเวลาแน่นอนทำให้ผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารเงินลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า และอาจประมาณการอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้าได้อีกด้วยแต่สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็น "กองทุนเปิด" ซึ่งอาจกำหนดอายุโครงการหรือไม่ก็ได้ ก็มีข้อดีคือมีสภาพคล่องสูงกว่า เพราะเปิดให้ผู้ลงทุนซื้อ ๆ ขาย ๆ ได้ตลอด ซึ่งอาจจะเป็นทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละกองทุนรวมกำหนดไว้อย่างไร

บทความที่ได้รับความนิยม